รีวิวตะลอนเที่ยว พิพิธภัณฑ์ดอร์เซ่(Musée D’orsay) แหล่งเสพย์งานศิลป์ห้ามพลาดของปารีส


นอกจากพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ (Musee du Louvre)ที่นับว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆของโลกและมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเยี่ยมชมกันอย่างล้นหลามตลอดทั้งปีแล้วนั้น พิพิธภัณฑ์ดอร์เซ่ (Musée D’orsay)ที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำแซนด์ (La Seine) ก็นับว่ามีชื่อเสียงและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชมและหลงใหลมนต์สเน่ห์แห่งเมืองปารีสได้ไม่แพ้กัน

พิพิธภัณ์ดอร์เซ่ (Musée D’orsay) เดิมเป็นสถานีรถไฟเก่า นั่นคือสถานีดอร์เซ่ (gare d’Orsay) หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ จุดประสงค์เพื่อจัดการแสดงศิลปะในระหว่างปีคริสตศักราช 1848 -1914

“Review Musee Dorsay” – Photo and stories by Sasithorn Intarachai

“Review Musee Dorsay” – Photo and stories by Sasithorn Intarachai

ก่อนหน้าที่สถานีดอร์เซ่ จะถูกนำมาปรับปรุงเพื่อให้เป็นพิพิธภัณ์ฑ์ นักเขียนและจิตกรนามว่า เอดัวร์ เดอไตล์ ( Edouard Detaille) ได้กล่าวไว้ว่า ” ถ้าได้นำมาปรับปรุง ที่นี่จะกลายเป็นที่จัดแสดงศิลปะชั้นยอด” ( La gare est superbe et l’air d’un Palais des Beaux – Art…) เขากล่าวประโยคนี้ไว้ในปีคริสตศักราช 1900 และไม่น่าเชื่อว่าคำพูดของเขาจะกลายเป็นเรื่องจริงในอีก 80 ปีต่อมา

เราได้มีโอกาสเข้าชมพิพิธภัณฑ์เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา หลังจากผลัดวันประกันพรุ่งมาหลายครั้งหลายครา พอจะมีโอกาสก็ติดนู่น ติดนี่ไปซะทุกครั้ง  ซึ่งความจริงเราคิดเอาไว้นานมากแล้วว่าจะต้องหาโอกาสมาชมพิพิธภัณฑ์นี้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง และวันนั้นก็มาถึงจนได้ และก็นับเป็นการเปิดโลกทัศน์ทางด้านศิลปะไปอีกขั้นหนึ่งเลยทีเดียว

วันที่เราไปเป็นวันพฤหัสบดี พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 9.30 น. –  21.45 น. แต่ถ้าหากเป็นวันอื่นๆจะปิดเวลา หกโมงตรง และปิดทำการทุกวันจันทร์  เราไปถึงกันช่วงบ่ายๆ ถ้าหากไม่ได้ซื้อตั๋วออนไลน์เอาไว้ก็ไปต่อคิวซื้อเอาที่หน้าพิพิธภัฑ์ก็ได้ วันธรรมดาคิวไม่ยาวมาก ยืนมองนู่น นี่ นั่นสักพักก็ถึงคิวเราแล้ว

เมื่อเข้ามาภายในตัวพิพิธภัณฑ์ด่านแรกเลยก็คือด่านตรวจสิ่งของ ซึ่งให้ความรู้สึกคล้ายๆอยู่ในสนามบิน ในใจแอบลุ้นด้วยซ้ำว่าจะให้เราถอดถุงเท้าด้วยไหม ปรากฎว่าไม่ โล่งอกไป  การตรวจสิ่งของเป็นเรื่องปกติของพิพิธภัณฑ์เกือบจะทุกแห่งในฝรั่งเศส หรือจะเหมารวมทั้งยุโรปก็ไม่น่าจะผิด เพราะศิลปะแต่ละชิ้นมีมูลค่ามหาศาล ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันใดๆเกิดขึ้น แน่นอนว่าจะเกิดความสูญเสียที่เราไม่สามารถประเมินค่าเป็นตัวเงินได้เลย และที่สำคัญที่สุดก็คือคนรุ่นหลังจะไม่มีโอกาสได้ศึกษาศิลปะจากทศวรรษก่อนๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง  เพราะเราคงปลุก Van Goh ให้ลุกขึ้นมาวาดภาพ “ห้องนอน”  ( La chambre à coucher) ให้เราดูไม่ได้อีกแล้ว เพราะฉนั้นการรักษาความปลอดภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญของทุกๆพิพิธภัณฑ์

“Review Musee Dorsay” – Photo and stories by Sasithorn Intarachai

เนื่องจากถูกปรับปรุงมาจากสถานีรถไฟเก่า ภายในตัวอาคารจึงยังคงโครงสร้างเดิมเอาไว้แทบจะทั้งหมด จุดเด่นคือหลังคารูปโดมอันโอ่อ่า ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าเรากำลังอยู่ในสถานีรถไฟจริงๆ

“Review Musee Dorsay” – Photo and stories by Sasithorn Intarachai

“Review Musee Dorsay” – Photo and stories by Sasithorn Intarachai

“Review Musee Dorsay” – Photo and stories by Sasithorn Intarachai

 

เราเริ่มต้นกันที่ห้องจัดแสดงภาพวาด ซึ่งมีภาพวาดจากจิตกรที่มีชื่อเสียงหลากหลายท่าน ผู้เขียนเองซึ่งไม่มีความรู้ทางด้านศิลปะมากนัก ยังกล่าวชื่นชมจิตกรแต่ละท่านอยู่ในใจว่าแต่ละท่านได้สร้างสรรค์สิ่งจรรโลงใจ ก่อให้เกิดแนวความคิดและไอเดียใหม่ๆให้กับคนรุ่นหลังได้อย่างชาญฉลาด ผู้เขียนมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ศิลปะเป็นตัวชี้วัดแนวความคิดของคนแต่ละยุคแต่ละสมัย สิ่งที่จิตรกรรังสรรออกมาเป็นภาพวาดแต่ละภาพ คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมในขณะนั้น เราสามารถให้ศิลปะบอกเรื่องราวย้อนหลังได้เป็นร้อยๆปี และนี่คือสิ่งที่ผู้เขียนประทับใจ

อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการจัดการแสดงเฟอร์นิเจอร์ในยุคสมัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ เก้าอี้ ตู้ เตียง มีการจำลองรูปแบบของการจัดห้องในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสังเกตุเห็นก็คือ ขนาดของเตียงในยุคก่อนๆ จะมีขนาดเล็กและสั้นกว่าในยุคปัจจุบันค่อนข้างมาก สอบถามเจ้าหน้าที่ได้ความว่า คนในยุคก่อนจะนิยมกินเนื้อไม่กินผัก ทำให้เวลานอนต้องนอนแบบกึ่งนั่ง กึ่งนอน เพราะเนื้อจะย่อยยาก ทำให้นอนหลับไม่สบาย และเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ ไม่เน้นลวดลายแต่เน้นรูปแบบ ซึ่งผู้เขียนมองว่าดูเก๋ดี แต่ราคาค่อนข้างสูงทีเดียว ซึ่งเฟอร์นิเจอร์ก็ถือได้ว่าเป็นสมบัติของครอบครัว ที่ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินมีค่าอย่างหนึ่งเลยทีเดียว

“Review Musee Dorsay” – Photo and stories by Sasithorn Intarachai

“Review Musee Dorsay” – Photo and stories by Sasithorn Intarachai

“Review Musee Dorsay” – Photo and stories by Sasithorn Intarachai

เราใช้เวลาเดินชมพิพิธภัณฑ์กันประมาณสองชั่วโมง ก่อนกลับเราแวะที่ร้านขายของที่ระลึกภายในพิพิธภัณฑ์  ผู้เขียนได้หนังสือชีวประวัติของแวน โก๊ะ มาเล่มหนึ่ง หนังสือชื่อว่า ” Van Goh à Paris ” เขียนและเรียบเรียงโดย Bruno Delarue เป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของแวน โก๊ะหลังจากได้เข้ามาอยู่ที่ปารีสในปี 1886 น่าเสียดายที่ผลงานส่วนใหญ่ของแวน โก๊ะ ถูกจัดแสดงไว้ที่ Musee Van Goh ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปชมครั้งหนึ่ง บอกเลยว่า ไม่ผิดหวัง ไว้มีโอกาสจะมาเล่าสู่กันฟัง

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์ดอร์เซ่ สามารถหาข้อมูลได้จาก http://www.musee-orsay.fr ค่าเข้าชมราคา 12 ยูโร ถ้าอายุต่ำกว่า 25 ปี ราคา 9 ยูโร และจะเปิดให้เข้าชมได้ฟรีทุกวันอาทิตย์แรกของแต่ละเดือน

การเดินทางโดยรถไฟใต้ดิน (Métro) สาย 12 สถานี Solférino หรือ RER สาย C สถานี Musée d’Orsay ซึ่งถ้านั่ง RER มา จะมาโผล่ตรงด้านหน้าพิพิธภัณฑ์พอดี แต่ถ้านั่งรถไฟใต้ดิน อาจจะต้องเดินประมาณ 5 นาที ถ้ามีเวลา แนะนำให้เดินเลียบแม่น้ำแซนด์โดยเริ่มต้นจากหอไอเฟล ผ่าน place de la Concorde รับรองได้ว่าต้องประทับใจ

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านทุกท่านไม่มากก็น้อย และโปรดติดตามสถานที่ที่น่าสนใจในปารีส ที่เราจะนำเสนอในครั้งต่อไปกันด้วยนะคะ

“Review Musee Dorsay” – Photo and stories by Sasithorn Intarachai

À la prochaine!