วัดพนัญเชิง จังหวัดอยุธยา
วัดพนัญเชิงวรวิหาร วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา ที่ประดิษฐานพระไตรรัตนนายก พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในจังหวัด พร้อมด้วยตำนานโศกนาฎกรรมความรักระหว่างพระเจ้าสายน้ำผึ้งและพระนางสร้อยดอกหมาก เที่ยวชมตำหนักพระแม่สร้อยดอกหมากที่ขึ้นชื่อในด้านความศักดิสิทธิ์
วัดพนัญเชิงวรวิหารเป็นวัดอารามหลวง ชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตามพงศาวดารเหนือกล่าวว่าวัดพนัญเชิงสร้างขึ้นโดยพระเจ้าดวงเกรียงกฤษณราช หรือพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ไม่ทราบปีที่สร้าง แต่พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์กล่าวว่าพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระราชนัดดา (หลานปู่) ในพระเจ้าสายน้ำผึ้ง โปรดฯ ให้สร้างพระพุทธเจ้าพแนงเชิงขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1867 ซึ่งนั่นเป็นสมัยสุโขทัย และเป็นเวลาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 26 ปี
นอกจากประวัติศาสตร์อันยาวนานของวัดพนัญเชิงแล้วยังมีตำนานการสร้างวัดที่ไม่ธรรมดา ดังที่จะได้เล่าในส่วนของตำหนักนางสร้อยดอกหมากต่อไป
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด
พระไตรรัตนนายกเป็นพระประธานของวัดพนัญเชิง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอยุธยา โดยมีความสูง 19 เมตร และมีหน้าตัก 20 เมตร ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าหลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง
พระไตรรัตนายกเดิมมีชื่อว่า พระพุทธเจ้าพแนงเชิง โดยคำว่า ‘พแนงเชิง’ หมายถึง การนั่งขัดสมาธิ แต่ในบางตำนานเล่าว่าเป็นชื่อที่เพี้ยนมากจากคำว่า ‘พระนางเชิญ’ ตามตำนานการเชิญพระนางสร้อยดอกหมากขึ้นจากเรือ ต่อมาในปี พ.ศ. 2349 รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้บูรณะใหม่และพระราชทานนามว่าพระไตรรัตนายก สำหรับชาวจีนมักเรียกท่านว่าหลวงพ่อซำปอกง (三寶公) โดยคำว่า ซำ (三) แปลว่าสาม, ป้อ (寶) คือ แก้ว และ กง (公) เป็นคำยกย่องบุคคลเพศชาย ซำปอกงจึงเป็นการแปลคำว่าพระไตรรัตนนายกเป็นภาษาจีนนั่นเอง นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2397 ในหลวงรัชกาลที่ 4 ถวายพัดยศแฉกลายทอง รูปกลีบพุ่มข้าวบิณฑ์ ตั้งประดับอยู่หน้าองค์พระอีกด้วย
หลังจากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดไฟไหม้ผ้าที่ห่มองค์พระจนเห็นรอยร้าวบนองค์พระหลายแห่ง ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้บูรณะ หลังจากนั้นเสด็จไปปิดทองด้วยพระองค์เองและโปรดฯ ให้มีการจัดงานสมโภชขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 7 พระหนุ (คาง) ของพระไตรรัตนนายกได้พังลงมา เกิดเป็นช่องโหว่ลึกถึงพระปรางทั้งสองข้าง จึงต้องบูรณะอีกครั้ง ในการบูรณะซ่อมแซมครั้งนี้ได้เปลี่ยนพระอุณาโลมจากแต่เดิมที่เป็นทองแดงล้วนให้เป็นทองคำด้วย
ตามตำนานเล่าว่าพระเจ้ากรุงจีนได้พระราชทานนางสร้อยดอกหมากซึ่งเป็นพระธิดาบุญธรรมให้พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ขณะที่พระองค์เสด็จกรุงจีน ทว่าเมื่อกลับมายังอยุธยา พระนางรออยู่ในเรือ และพระเจ้าสายน้ำผึ้งก็มีพระราชกิจมากมายจึงโปรดให้เสนาอำมาตย์ไปเชิญพระนางขึ้นจากเรือ แต่พระนางไม่ยอมขึ้นท่า เพราะทรงต้องการให้พระเจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จมารับด้วยพระองค์เอง พระเจ้าสายน้ำผึ้งตรัสหยอกว่าไม่ขึ้นก็อยู่ในเรือไปแล้วกัน พระนางจึงกลั้นใจตาย พระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงโศกเศร้าเป็นอย่างยิ่ง จึงสร้างวัดไว้ริมฝั่งที่พระนางกลั้นใจตายและให้ชื่อว่าวัดพระนางเชิญกระทั่งเพี้ยนมาเป็นวัดพนัญเชิงในปัจจุบัน
ตำหนักพระแม่สร้อยดอกหมากเป็นเก๋งจีน สร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีนทั้งหลัง ว่ากันว่าพระแม่สร้อยดอกหมาศักดิสิทธิ์มาก ใครขอพรใดๆ มักได้สมประสงค์ วันเวลาที่น่าเที่ยวมากที่สุดคือวันเกิดพระแม่สร้อยดอกหมากซึ่งจะจัดติดต่อกัน 4 วันในเดือนเมษายน และมีงิ้วมาแสดงหลายคณะ