พิพิธภัณฑ์สงครามอักษะและเชลยศึก JEATH War Museum
JEATH War Museum หรือ พิพิธภัณฑ์สงครามอักษะและเชลยศึก เป็นพิพิธภัณฑ์กระท่อมไม้ไผ่ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่จำลองค่ายเชลยศึก ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ
ตามประวัติการก่อสร้างแล้ว ที่นี่เกิดขึ้นโดยการดำริและจัดการของ พระเทพปัญญาสุธี เจ้าอาวาสวัดไชยชุมพลชนะสงครามและเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี จึงตั้งอยู่ข้างวัด เปิดให้เข้าชมเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2520
ภายนอกของพิพิธภัณฑ์ เป็นกระท่อมไม้ หลังคามุงด้วยจาก โดยรวมของพิพิธภัณฑ์ เป็นรูปตัวยู เข้าทางหนึ่ง แล้วเดินชมพิพิธภัณฑ์ไปตามเส้นทางตัวยู ก่อนมาออกตรงทางออก
ภายในเป็นสภาพจำลองความเป็นอยู่ มีที่นอนไม้ไผ่ซีกติดฝายกพื้นขึ้นมา เป็นที่นอนแบบเรือนนอนผืนเดียวกัน จัดแสดงภาพวาดบนยกพื้นนั้น เป็นทั้งภาพถ่าย ภาพวาด ให้เห็นความเป็นอยู่และชีวิตของเชลยศึกยุคดังกล่าว
มีรูปถ่ายทางรถไฟสายมรณะที่เป็นผลงานของเชลยศึก พร้อมโมเดลจำลองรถไฟสายดังกล่าว แสดงอาวุธปืนลูกซองยาว ภาพวาดขณะทำงานของเหล่าเชลยศึกในสภาพแทบไม่มีเสื้อผ้า เห็นความผอมจนเห็นซี่โครง แต่ต้องกรำงานหนักท่ามกลางสายฝน และการควบคุมใกล้ชิดของทหารญี่ปุ่น
ภาพของเชลยศึกที่เจ็บป่วยด้วยอหิวาตกโรคซึ่งเป็นโรคระบาดในช่วงเวลานั้น ลูกระเบิดที่ใช้ทิ้งทำลายข้าศึกในช่วงสงคราม ภาพความอดอยากแทบไม่มีจะกินขนาดต้องร้องขอส่วนของอาหารของเพื่อนที่นอนตายอยู่ข้างๆ
โมเดลจำลองภาพขณะทำงาน รวมภาพถ่าย ภาพวาด โมเดลจำลอง พร้อมทั้งบันทึกเรื่องราวที่ทำให้รู้ถึงความลำบาก โหดร้าย ความเป็นอยู่ในฐานะเชลยศึก เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึง “กว่าจะมาเป็นทางรถไฟสายมรณะ” และความโหดร้ายของสงครามที่ไม่น่าจะให้เกิดขึ้นอีก
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีชาวต่างชาติเข้ามาย้อนอดีตที่เจ็บปวดของเพื่อนร่วมชาติจำนวนไม่น้อย
ในส่วนของด้านนอกอาคาร ก็มีการจัดแสดงในส่วนของเครื่องมือเครื่องใช้ของกองทัพญี่ปุ่น ตลอดจนซากระเบิดที่เจอในภายหลังสงครามจบ มีกระติกน้ำ อาวุธปืน หมวก ดาบ ภาชนะที่ใช้ในภาคสนาม บางส่วนเป็นของที่เชลยศึกนำมาแลกกับอาหารและผลไม้จากคนไทย
การไปชมพิพิธภัณฑ์ให้เข้าใจและเข้าถึงในการที่ผู้จัดทำและรวบรวมหลักฐานเก็บไว้ที่นี่ ควรที่จะได้มีการศึกษาเรื่องราวต่างๆ ในยุคนั้นไปล่วงหน้า เพราะยังมีรายละเอียดอีกมากกว่าที่จะนำมาแสดงได้ทั้งหมด อีกทั้งไม่ใช่การไปมองสิ่งของ รูปภาพ แต่ไม่สัมผัสเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในสิ่งที่แสดงเอาไว้มากกว่า
เรื่องราวในประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เหลือทิ้งหลักฐาน และการรำลึกถึงในจังหวัดกาญจนบุรีในหลายๆ ที่ เป็นเครื่องยืนยันตรงกันของประวัติศาสตร์ความโหดร้ายของสงครามที่ใครๆ ก็คงไม่ลืม ทุกครั้งที่ได้เห็น ได้อ่าน ก็ต้องย้อนกลับไปศึกษาประวัติในช่วงดังกล่าว และคงยังมีคนสนใจศึกษาอย่างต่อเนื่องจากนี้อีกไม่รู้จบ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ควรลืม มันคือบทเรียนที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นอีกในโลกใบนี้
ที่ตั้ง
227 วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) ถ.ไชยชุมพล ต.บ้านใต้ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี 71000