ตลาดเก้าห้อง


อัพเดตล่าสุดเมื่อ 21 กรกฎาคม 2567

 

ตลาดเก้าห้อง: ตลาดโบราณอายุร่วม 100 ปี โดดเด่นด้วยหอดูโจรแห่งเดียวในประเทศไทยที่ทำให้ตลาดเก้าห้องปลอดโจร แม้ในสมัยที่ ‘เสือ’ ครองเมือง ชมสถาปัตยกรรมเก่าแก่แบบผสมไทยจีนของตลาด และซื้อสินค้ามากมายทั้งอาหารและของเก่า พลาดไม่ได้คือพิพิธภัณฑ์ตลาดเก้าห้อง ที่เก็บประวัติศาสตร์ของตลาดแห่งนี้เอาไว้

ตลาดเก้าห้องเป็นตลาดอายุร่วม 100 ปี สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 ลักษณะของตลาดเป็นห้องแถวสองแถวหันหน้าชนกัน ตลาดเก้าห้องมีประวัติที่ไม่ธรรมดา โดยแต่เดิมที่ดินบริเวณนี้เป็นที่ว่างเปล่า มีลาวพวนอพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณริมน้ำท่าจีนแห่งนี้ โดยลาวพวนหรือไทยพวนนี้ ก็คือกลุ่มคนที่ใช้ภาษาพวน มีถิ่นฐานอยู่ในแคว้นเชียงขวางของประเทศลาว

ต่อมา ‘นายวันดี’ หัวหน้าลาวพวนได้รับราชการเป็นนายกองส่วย กล่าวคือเป็นผู้ที่เก็บภาษีให้กับรัฐ มีบรรดาศักดิ์เป็น ‘ขุนกำแหง’ ต่อมาขุนกำแหงได้สร้างบ้านขึ้นแต่กลับถูกไฟไหม้ เมื่อเชิญซินแสมาดู ซินแสเห็นว่าฮวงจุ้ยไม่ดี ต้องสร้างเป็นบ้านเก้าห้อง และสร้างศาลเจ้าปู่เจ้าย่าเอาไว้ด้วย

ต่อมามีชาวจีนคนหนึ่งชื่อ ‘ฮง’ เป็นคนทำมาค้าขาย จากกรุงเทพมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ โดยนายฮงได้แต่งงานกับนางแพร หลานสาวของขุนกำแหง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2424 นายฮงได้สร้างตลาดแพลอยน้ำในแม่น้ำท่าจีน และชวนเพื่อนชาวจีนมาทำมาค้าขายที่นี่ จึงกลายเป็นชุมชนไทยจีนริมน้ำขึ้น

ทว่ายุคนั้นเป็นยุคที่มีโจรปล้นสะดมเยอะแยะมากมาย ตลาดแพลอยน้ำของนายฮงถูกปล้น และนางแพร ภรรยาของนายฮงถูกประทุษร้ายจนเสียชีวิต เป็นเหตุให้นายฮงตัดสินใจทำตลาดใหม่บนบก และเพราะตลาดแห่งนี้อยู่ตรงข้ามฝั่งน้ำกับบ้านเก้าห้องของขุนกำแหง สมัยนั้นไม่มีแลนด์มาร์คอื่น ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่าตลาดเก้าห้องตามลักษณะของบ้านนั่นเอง

หลังจากนั้นนายฮงได้สมรสใหม่กับนางส้มจีน และเปลี่ยนชื่อเป็นนายบุญรอด เหลียงพาณิชย์ และอยู่กินกันมาจนสิ้นอายุขัย ตลาดเก้าห้องที่นายฮง หรือ นายบุญรอดสร้างขึ้น คือ ส่วนที่เป็นตลาดกลางและตลาดล่าง โดยตลาดล่างสร้างขึ้นก่อน มีอายุราว 105 ปี ส่วนตลาดกลางคือบริเวณโรงสีของนายทองดีและท่าเรือ ส่วนตลาดบนนั้นสร้างเพิ่มเติมขึ้นในปี พ.ศ. 2479 โดยพระชาญ สุวรรณเขต นายอำเภอบางปลาม้าในสมัยนั้น

สิ่งที่น่าสนใจภายในตลาด

  1. หอดูโจร เนื่องจากตลาดแพของนายฮงถูกโจรปล้น แถมโจรยังทำร้ายภริยาเดิมของเขาจนถึงแก่ชีวิต อีกทั้งยุคที่นายฮงสร้างตลาดเป็นยุคของ ‘เสือ’ เมื่อสร้างตลาดเก้าห้องขึ้นบนบก ในปี พ.ศ. 2477 นายฮงจึงสร้างหอดูโจรเอาไว้ด้วย โดยหอดูโจรแห่งนี้เป็นหอเดียวในจังหวัดสุพรรณบุรี มีความสูงเท่าตึก 4 ชั้น กว้าง 3×3 เมตร หอดูโจรมีขึ้นเพื่อให้เวรยามขึ้นไปเฝ้าสังเกตการณ์ พอเห็นโจรมาแต่ไกลก็จะได้ส่งสัญญาณให้ชาวตลาดได้ทราบ เพื่อชาวบ้านส่วนหนึ่งจะได้หลบและอีกส่วนจะได้ร่วมกันรักษาตลาดเอาไว้

แม้ปัจจุบันจะไม่มีโจรผู้ร้ายแล้ว แต่หอดูโจรก็ยังเป็นจุดเด่นของตลาดเก้าห้อง ทางเข้าหอดูโจรจะเป็นตรอกแคบให้เดินลัดสู่หอ ตัวหอก่ออิฐถือปูน ผนังเจาะรูสำหรับสอดปลายกระบอกปืนออกมายิงโจร เนื่องจากหอดูโจรมีลักษณะเป็นที่กำบังสำหรับปลิดชีพโจร และคุ้มครองตลาด จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ป้อมปราบโจร’

หอดูโจรเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปชมวิวมุมสูงบนดาดฟ้าได้ จากหอดูโจร นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นตลาดทั้งหมด และสามารถมองเห็นบ้านเก้าห้องของขุนกำแหง ตลอดจนวัดลานคาและสะพานแขวนข้ามแม่น้ำท่าจีน

  1. สินค้าภายในตลาด สินค้าโดยทั่วไปของตลาดเก้าห้อง คือ อาหารทั้งคาวและหวาน เช่น ขนมไข่ปลา กะหรี่ปั๊บ ขนมโก๋ไท่ ขนมเปียะ ขนมคอเป็ด ขนมกล้วยรังผึ้ง ดาวเด่นของตลาดคือร้านขนมเปียะตั้งกุ้ยกี่ ที่ใช้สูตรทำขนมที่สืบสานกันมานานกว่า 80 ปี ทำให้มีลูกค้ามากมาย บางวันขายได้มากกว่า 10,000 ลูกเลยด้วยซ้ำ โดยขนมเปียะที่นี่มีอยู่ด้วยกัน 4 ไส้ ได้แก่ ไส้ฟัก ไส้ถั่วผสมฟัก ไส้ถั่วดำ และไส้ถั่วเหลือง

นอกจากของกินแล้ว ภายในตลาดยังมีร้านขายของเก่าขึ้นชื่อ ภายในมีของเก่ามากมาย เช่น โอ่งมังกรฝาไม้ ตุ้มเคลือบสี โอ่งเหลี่ยม โต๊ะเก้าอี้โบราณ เหมาะกับการซื้อหาไปตกแต่งบ้านและร้านค้าไสตล์ย้อนยุค

  1. ชมสถาปัตยกรรมในตลาด ตลาดเก้าห้องมีความเก่าแก่มาก แถมยังเป็นศิลปะผสมไทยจีน ห้องแถวที่ใช้ในการค้าขายก็เป็นอาคารเก่าที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดี ทำให้บรรยากาศของที่นี่มีมนต์ขลังอย่างไม่น่าเชื่อ จุดเด่นของตลาดบน คือ ฮู้ใหญ่โบราณและม่านชักรอกที่หาดูได้ยาก
  2. สถานที่ใกล้เคียง เมื่อมาถึงตลาดเก้าห้องนอกจากจะเที่ยวภายในตัวตลาดแล้ว รอบนอกตลาดก็มีสิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่

3.1 สะพานแขวนข้ามแม่น้ำท่าจีน เป็นสะพานแขวนศิลปะยุโรปที่สวยงาม เป็นอีกจุดเซลฟี่ที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด

3.2 บ้านเก้าห้องของขุนกำแหง บ้านเก้าห้องของขุนกำแหง ภายในประกอบไปด้วยป้ายจารึกประวัติขุนกำแหง พร้อมนามสกุลของลูกหลานขุนกำแหงภายหลังการออกกฎหมายพระราชบัญญัติขนานนามสกุลในสมัยรัชกาลที่ 6 อีกทั้งยังมีศาลเจ้าปู่เจ้าย่าให้สักการะบูชาด้วย

3.3 โรงสีเก่า โรงสีแห่งนี้เคยเป็นของนายทองดี อยู่บริเวณตลาดกลาง โรงสีมีขึ้นมาก่อนและในภายหลังนายฮงจึงได้สร้างตลาดกลางเพิ่มขึ้นอีก 10 ห้อง ภายในโรงสีเก่ายังคงมีเครื่องมือและอุปกรณ์สีข้าวโบราณให้ได้ชมกัน

3.4 พิพิธภัณฑ์ตลาดเก้าห้อง ลักษณะของพิพิธภัณฑ์เป็นห้อง 1 คูหามี 2 ชั้น ภายในรวบรวมรูปถ่ายของตลาดเก้าห้องและหอดูโจร รวมถึงเครื่องใช้โบราณ เช่น วิทยุโบราณ ที่ใส่หมากพลู เตารีดถ่าน ถ้วยกระเบื้องเครื่องเคลือบ แก้วกาแฟโบราณ สิ่งที่โดดเด่นของพิพิธภัณฑ์คือเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากินของคนที่นี่ โดยชาวชุมชนได้ร่วมกันบริจาคเครื่องมือเครื่องใช้โบราณของตนให้พิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นกระต่ายขูดมะพร้าว เครื่องทำลอดช่องโบราณ เครื่องหนีบคั้นน้ำอ้อยโบราณทำจากไม้ อุปกรณ์เขียงหมูและมีดขนาดต่างๆ สำหรับชั้นบนจัดเป็นห้องนอนที่มีเตียงและม่านแบบโบราณ เหมือนกับมีคนอยู่อาศัยจริงๆ

ไฮไลท์ที่น้อยคนจะรู้ คือ ท่อเก็บของกันไฟ ปกติพื้นที่นี่จะเป็นพื้นปูนแต่จะมีจุดหนึ่งที่เป็นไม้รูปแปดเหลี่ยม ความจริงบริเวณที่เห็นว่าเป็นไม้นี้ คือ ฝาท่อ ข้างในเป็นท่อลึกลงไปในดิน 3 เมตร เมื่อมีอัคคีภัยก็สามารถนำข้าวของเครื่องใช้ใส่ลงไปในท่อเพื่อเก็บรักษาให้ไม่มอดไหม้ไปกับเปลวเพลิง

นอกจากสะพานแขวน บ้านขุนกำแหง โรงสีเก่า และพิพิธภัณฑ์ที่กล่าวไปแล้ว ในละแวกเดียวกันยังมีศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลเจ้าแม่ทับทิม และศาลเจ้าพ่อทุ่งแค ให้นักท่องเที่ยวได้สักการะอีกด้วย