หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย สุพรรณบุรี


อัพเดตล่าสุดเมื่อ 21 กรกฎาคม 2567

 

หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย สถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับควายไทยและชีวิตชาวนาวิถีไทยดั้งเดิม นอกจากจะเพลิดเพลินกับการถ่ายรูปกับแปลงนา ป้อนหญ้าควาย และนั่งเกวียนเทียมควายแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถเดินดูควายในโรงเลี้ยง โดยเฉพาะพญาควายลักษณะมงคลตามตำรา 5 ประการและควายเผือกที่ไม่ควรพลาด รวมถึงการชมการแสดงโชว์ความสามารถของควายไทยอีกด้วย

หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย จ. สุพรรณบุรี เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2545 บนเนื้อที่ 100 กว่าไร่ เนื่องจากสุพรรณบุรีเป็น 1 ใน 5 จังหวัดที่ผลิตข้าวของไทย หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทยนอกจากจะอนุรักษ์ควายไทยแล้วยังจัดแสดงชีวิตชาวนาวิถีไทยแบบดั้งเดิมอีกด้วย

สิ่งที่น่าสนใจภายในหมู่บ้าน

  1. พิพิธภัณฑ์ชาวนา แสดงชีวิตความเป็นอยู่วิถีไทยและความเป็นอยู่ของชาวนา มีลานนวดข้าว สุ่มไก่ เครื่องมือในการนวดข้าว ฝัดข้าว และอื่นๆ อีกมากมาย
  2. เรือนชาวนา เรือนไม้ทรงไทยขนาดย่อมภายในตกแต่งด้วยเครื่องมือเครื่องใช้วิถีไทย เช่น ข้องและไซ ปืนยาว ปืนแก้ป หมวกกะโล่ ตู้กับข้าวไม้โบราณ ม้าโยกและควายไม้
  3. แปลงนา อีกหนึ่งจุดเซลฟี่ นักท่องเที่ยวพลาดไม่ได้ ที่นี่จำลองแปลงนาซึ่งปลูกข้าวไว้จริงๆ เอาไว้ พร้อมทางเดินไม้ไผ่เหนือแปลงนาให้นักท่องเที่ยวเดินไปเซลฟี่กับนาได้โดยไม่ทำลายต้นข้าว ใกล้กับแปลงนามีทางเกวียน พร้อมควายเทียมเกวียนเดินผ่านไปมา ให้บรรยากาศแบบชนบทอย่างที่สุด
  4. บ้านเรือนไทยภาคกลาง เป็นบ้านเรือนไทยโบราณของคหบดีและผู้ที่มีฐานะมากหน่อย ที่นี่ไม่ใช่เรือนไทยเปล่าๆ ทว่าแต่ละเรือนยังจัดสภาพภายในแบ่งตามกิจกรรม เช่น เรือนแพทย์แผนไทย เรือนนวดแผนไทย เรือนสมุนไพร เรือนโหราศาสตร์
  5. ควายเผือก ควายบ้านที่นิยมเลี้ยงกันในประเทศไทย คือ ควายปลัก ส่วนในประเทศอื่นๆ จะเป็นควายแแม่น้ำ ผิวของควายปลักมีได้ตั้งแต่สีเทาเข้มเกือบดำ สีเทา เทาอ่อน ไปจนถึงสีชมพู และควายผิวสีชมพูนี้เองที่เรียกกันว่าควายเผือก เนื่องจากควายเผือกไม่ใช่ควายที่การทำงานของเมลานินผิดปกติเหมือนสัตว์เผือกอื่นๆ จึงสามารถใช้ชีวิตกลางแดดได้ตามธรรมชาติ และควายเผือกที่มีอยู่ด้วยกันหลายตัวนี้ก็เป็นไฮไลท์ของหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทยทีใครไปใครมาก็ต้องแวะชม
  6. ลานการแสดง ที่นี่มีการแสดงวิถีชีวิตคนไทยที่มีต่อควาย เช่น วิธีการสนตะพาย อีกทั้งยังมีการแสดงความน่ารักและแสนรู้ของควาย เช่น ทำตามคำสั่งแยกแยะซ้าย – ขวา ลากเกวียนและวิ่งควาย ในบางคราวมีการจัดประกวดควายงาม โดยควายงามตามตำราต้องมีลักษณะดี เช่น เขาโค้งไปทางด้านหลัง หลังตรงไม่เว้า ก้นมะนาว (สะโพกเนื้อเยอะกลมมองจากทางด้านหลังเหมือนลูกมะนาวผ่าครึ่ง) หน้ายาว ขาตรง เป็นต้น การแสดงมีทุกวัน จันทร์ – ศุกร์มีการแสดงรอบ 00 น. และ 15.00 น. ส่วนวันเสาร์ – อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์มีรอบ 11.00 น. 14.30 น. และ 16.00 น.
  7. พญาควาย เป็นควายที่มีลักษณะมงคล 5 ประการ ถูกต้องตามตำรา กล่าวคือ หน้าดอก หางแบน ข้อเท้าด่าง ปากคาบแก้ว (ปากด่างเหมือนคาบแก้วอยู่) เท้าขุนนาง บางตำราว่า หน้าดอก หางแบน หางด่าง ปากคาบแก้ว กีบเท้าด่าง รนไทยโบราณเชื่อว่าใครมีพญาควายในครอบครองจะเจริญรุ่งเรือง ทำนาราบรื่น นอกจากนี้พญาควายยังมีความสามารถในการควบคุมฝูงให้ช่วยงานเจ้าของได้เป็นอย่างดี หากใครฆ่าหรือกินเนื้อพญาควายก็จะประสบภัยพิบัติต่างๆ นานา
  8. กินกาแฟดูควาย อีกหนึ่งกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวพลาดไม่ได้ คือ การดื่มกาแฟ โดยเฉพาะเมื่อการดื่มกาแฟที่นี่ไม่ใช่การสั่งกาแฟจากร้านมานั่งจิบธรรมดาๆ แต่เป็นการละเลียดกาแฟริมสระน้ำขุด ที่จะมีควายลงเล่นน้ำ บริเวณที่นักท่องเที่ยงนั่งละเลียดกาแฟจะมีฟ่อนหญ้าวางไว้ให้นักท่องเที่ยวนำไปป้อนควายที่กำลังลงแช่น้ำอยู่ ฟ่อนหญ้านี้ไม่ได้ขาย เพียงแต่มีตู้บริจาคอยู่ใกล้ๆ ให้นักท่องเที่ยวบริจาคตามศรัทธาเท่านั้น
  9. ขี่เกวียนชมบ้านควาย กิจกรรมนั่งเกวียนที่มีควายสองตัวเทียมอยู่ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจ โดยควายจะเดินรอบหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมบรรยากาศโดยรอบ