วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร


อัพเดตล่าสุดเมื่อ 21 กรกฎาคม 2567

 

วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร: วัดโบราณอายุกว่า 1,200 ปี และได้รับการบูรณะมาตั้งแต่ก่อนพ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์อักษร อีกทั้งยังเป็นวัดที่ปรากฎในวรรณคดีไทยถึง 3 เรื่องด้วยกัน ภายในวิหารของวีดประดิษฐานหลวงพ่อโต พระสมัยทวารวดี  ปางปาลิไลยก์ที่หาชมได้ยากยิ่ง

วัดป่าเลไลยก์เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งที่เมืองสุพรรณยังเป็นเมืองสุพรรณภูมิ เมืองหลวงของอาณาจักรทวารวดี วัดจะสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ใดไม่ปรากฎ แค่นักวิชาการสันนิษฐานว่าวัดอาจมีอายุมากว่า 1,200 ปี โดยในพงศาวดารเหนือได้บันทึกไว้ว่าในปี พ.ศ. 1724 พระเจ้ากาแตโปรดให้มอญน้อยบูรณะวัด 3 วัด ในสุพรรณภูมิ หนึ่งในนั้นคือวัดป่าเลไลยก์

เนื่องจากวัดป่าเลไลยก์ เป็นวัดซึ่งอยู่นอกเขตเมืองเก่า เมื่อพิจารณาจากสถานที่ตั้งแล้ว กรมศิลปากรสันนิษฐานว่าอาจเป็นวัดฝ่ายอรัญญวาสี (วัดป่า) มาแต่เดิม

ในสมัยรัตนโกสินทร์ ในหลวงรัชกาลที่ 4 โปรดให้บูรณะพระประธานและวิหาร โดยการสร้างผนังวิหารขึ้นใหม่ และสร้างหลังคาซ้อนละข้างละ 5 ชั้น  จากนั้นพระราชทานตรามหามงกุฎอยู่ระหว่างฉัตรคู่ ซึ่งเป็นตราพระลัญจกรประจำพระองค์ไว้ที่หน้าบันของวิหาร

ในสมัยรัชกาลที่ 6 วัดป่าเลไลยก์ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2461 และได้รับการยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหารเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2468 จากนั้นกรมศิลปกรได้ขึ้นทะเบียนวัดป่าเลไลยก์เป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

วัดป่าเลไลยก์ปรากฎในวรรณคดี 3 เรื่องได้แก่

  1. โคลงนิราศสุพรรณ เขียนโดยสุนทรภู่ เมื่อปี พ.ศ. 2379
  2. นิราศสุพรรณ เขียนโดยเสมียนมี พ.ศ. 2387
  3. เสภาขุนช้างขุนแผน ตอน พลายแก้วบวชเณร โดยหลังจากที่พลายแก้วบวชเป็นเณรเพื่อเรียนวิชาที่วัดส้มใหญ่ เล่าเรียนจนสิ้นภูมิขรัววัดส้มใหญ่แล้ว ขรัววัดส้มใหญ่ไดด้แนะนำให้เณรพลายแก้วไปเรียนวิชากับขรัววัดป่าเลไลยก์ที่สุพรรณ

สิ่งที่น่าสนใจภายใน

  1. หลวงพ่อโต

หลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง สุพรรณบุรี ปางปาลิไลยก์ ที่สูงถึง 23 เมตร ทรงนั่งในท่าปรลัมพปาทาสนะ หรือนั่งห้อยเท้า ท่วงท่าการนั่งของหลวงพ่อโตเช่นนี้ แปลกตามาก เพราะพระพุทธรูปตั้งแต่ศิลปะอู่ทองมาจนถึงรัตนโกสินทร์ นิยมสร้างให้นั่งขัดสมาธิ ในขณะที่ท่าปรลัมพปาทาสนะเป็นที่นิยมกันมากในพระพุทธรูปศิลปะทวารวดี ซึ่งได้รับอิทธิพลจากท่านั่งบัลลังก์ของรูปปั้นกษัตริย์ราชวงศ์กุษาณะในอินเดีย โดยพระพุทธรูปทวารวดีส่วนใหญ่ที่นั่งท่านี้มักเป็นปางประทานพร นักวิชาการส่วนใหญ่จึงสันนิษฐานว่าหลวงพ่อโต วัดปาเลยไลยก์ แต่เดิมเป็นพระทวารวดี ปางประทานพร แต่ต่อมาได้รับการบูรณะเป็นศิลปะอู่ทอง และเปลี่ยนส่วนของพระหัตถ์ให้เป็นปางปาลิไลยก์ ซึ่งช่วงที่มอญน้อยเข้ามาบูรณะก็เป็นปางปาลิไลยก์แล้ว

สำหรับปางปาลิไลยก์ พุทธลักษณะคือพระพุทธองค์ทรงประทับนั่ง พระหัตถ์ซ้างวางคว่ำบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระเพลา มักมีช้างและลิงอยู่บื้องพระบาท แสดงพุทธประวัติช่วงที่พระพุทธองค์ทรงประทับที่โฆษิตารามแล้วพระสงฆ์ทะเลาะกัน ทรงเทศนาหลายคราวก็ไม่ฟัง พระองค์จึงเสด็จมาอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง โดยมีช้างปาลิเลยยกะ ถือกิ่งไม้ปัดกวาดและปรนนิบัตวัตถาก วันหนึ่งมีพญาลิงมาถวายรวงผึ้ง พระพุทธองค์ไม่ทรงรับ เพราะมีตัวอ่อน ลิงจึงปัดตัวอ่อนผึ้งออกจนหมดแล้วนำมาถวายใหม่ พระพุทธองค์จึงทรงรับและทรงฉันน้ำผึ้งจากรวงนั้น หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จกลับ ทั้งช้างและลิงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรเนื่องจากกุศลที่ได้ทำไว้ในครั้งนั้น

แม้ในปัจจุบันทางวัดจะไม่อนุญาตให้ปิดทองหลวงพ่อโตองค์จริง แต่ได้จัดองค์จำลองไว้ให้สาธุชนได้ปิดทอง สำหรับองค์จริง สาธุชนยังสามารถร่วมชักผ้าครององค์พระได้

  1. บ้านขุนช้างและอื่นๆ

ภายในวัดป่าเลไลยก์มีสิ่งที่น่าสนใจ 4 สิ่งด้วยกันคือรูปปั้นขุนแผน รูปปั้นขุนช้าง รูปปั้นนางพิมพิลาไลย และบ้านขุนช้าง นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมและถ่ายรูปรูปปั้นเหล่านี้ได้ สำหรับบ้านขุนช้างเป็นบ้านทรงไทยขนาดใหญ่ ภายในจัดแสดงเครื่องใช้โบราณ เช่น เครื่องสังคโลก เครื่องทองเหลือง และมีภาพวาดที่กล่าวถึงตัวละครในเรื่องขุนช้างขุนแผน