อนุสรณ์ดอนเจดีย์
อนุสรณ์ดอนเจดีย์: เจดีย์ยุทธหัตถีที่สมเด็จพระเนรศวรทรงสร้างไว้ ณ บริเวณที่ทรงทำยุทธหัตถีและพระบรมราชานุสาวรีย์พระเนรศวรมหาราชทรงคชธารออกศึก ออกแบบโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระสี เป็นสองสิ่งที่โดดเด่นอยู่ในอนุสรณ์ดอนเจดีย์ ฐานของเจดีย์สร้างเป็นห้องประวัติศาสตร์ให้ประชาชนได้ชมฐานเจดีย์เดิมที่สมเด็จพระเนรศวรทรงสร้าง ตลอดจนภาพและหุ่นขี้ผึ้งแสดพระราชประวัติสมเด็จพระเนรศวรและจำลองภาพการศึกในครั้งนั้น
ประวัติ
เมื่อครั้งที่พระมหาอุปราชพม่าและมังจาชโร (พระเจ้าแปร) ยกทัพมา สมเด็จพระเนรศวรโปรดให้ตั้งทัพรับศึกที่ หนองสาหร่าย สุพรรณบุรี หลังจากนั้นได้ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชพม่า เมื่อเสร็จศึก พระองค์ท่านโปรดให้สร้างสถูป ณ บริเวณที่ทรงกระทำยุทธหัตถี พระราชทานชื่อว่า ‘เจดีย์ยุทธหัตถี’
อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาเจดีย์ดังกล่าวถูกลืม กระทั่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงรับสั่งให้พระยากาญจนบุรี (นุช) ออกเสาะหา โดยให้เสาะหาเจดีย์ที่มีลักษณะถูกต้องตรงตามที่พงศาวดารจารึกไว้ พระยากาญจนบุรีออกเสาะหาแถวบ้านตระพังกรุ จ. สุพรรณบุรี แต่ไม่พบ ต่อมากรมพระยาดำรงราชานุภาพรับสั่งให้ พระยาสุพรรณฯ (พระยาสุนทรบุรี สมุหเทศาภิบาล มณฑลนครไชยศรี) ออกเสาะหา พระยาสุพรรณฯ ออกเสาะหาที่ ต. หนองสาหร่าย และพบเจดีย์ยุทธหัตถีในที่สุด โดยในเวลานั้นชาวบ้านเรียกบริเวณที่เจดีย์ตั้งอยู่ว่าดอนเจดีย์เพราะเป็นที่ดอนและเป็นที่ตั้งของเจดีย์โบราณ
เมื่อพระยาสุพรรณฯ จัดการปรับปรุงพื้นที่แล้ว กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลในหลวงรัชกาลที่ 6 พระองค์ท่านทรงดำริว่าเจดีย์ยุทธหัตถีเป็นเจดีย์เฉลิมพระเกียรติอันยิ่งใหญ่ พระองค์ท่านจึงเสด็จฯ ไปสักการะด้วยพระองค์เอง เมื่อปี พ.ศ. 2456
ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2493) จอมพลผิน ชุณหะวัณได้ริเริ่มโครงการอนุสรณ์ดอนเจดีย์ เพื่อให้ชาวไทยได้ระลึกถึงความเสียสละเลือดเนื้อของบรรพชน และคณะรัฐมนตรีจึงอนุมัติให้กรมศิลปากรบูรณะเจดีย์ยุทธหัตถีและสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเนรศวรทรงคชธารออกศึกขึ้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จเปิดพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2502
สิ่งที่น่าสนใจ
1.พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเนรศวร พระบรมรูปสมเด็จพระเนรศวร ทรงคชธารออกศึก ช้างทรงเชือกนี้เดิม คือ เจ้าพระยาไชยานุภาพ หลังจากชนะยุทธหัตถี ได้รับพระราชทานชื่อใหม่เป็น “เจ้าพระยาปราบหงสาวดี” มีชื่อเล่นว่าพลายพุทรากระแทก เนื่องจากแรงน้อยกว่าพลายพัทธกอของพม่า แต่อาศัยใช้บั้นท้ายพิงต้นพุทราจึงเสยงัดพลายพัทธกอได้สำเร็จ
สำหรับพระบรมราชานุสาวรีย์นี้ กรมศิลปากรได้มอบหมายให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระสี ออกแบบ โดยก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2501
ปัจจุบันนอกจากพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเนรศวรทรงคชธารออกศึกจะเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวจะต้องมากราบสักการะแล้ว ด้านหน้าของพระบรมราชานุสาวรีย์ยังมีรูปหล่อจำลองให้ผู้ที่มาได้สักการะได้ปิดทองกันอีกด้วย
- เจดีย์ยุทธหัตถี บางตำนานเล่าว่า สมเด็จพระเนรศวรได้สร้างเจดีย์องค์นี้ขึ้นเพื่อบรรจุพระศพพระมหาอุปราช ตำนานนี้จะมีความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือโบราณคดีว่า
“…แต่ฉันรู้มาตั้งแต่ในรัชชกาลที่ ๕ ว่าสมเด็จพระนเรศวรฯ มิได้ทรงสร้างพระเจดีย์องค์นั้นสวมศพพระมหาอุปราชา… เพราะในหนังสือพงศาวดารพะม่าซึ่งพระไพรสณฑ์สาลารักษ์ (อองเทียน) กรมป่าไม้แปลจากภาษาพะม่าให้ฉันอ่าน ว่าครั้งนั้นพวกพะม่าเชิญศพพระมหาอุปราชากลับไปเมืองหงสาวดี ฉันพิจารณาดูรายการที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ก็เห็นสมอย่างพะม่าว่า…”
ส่วนที่ว่าเพราะอะไรสมเด็จพระเนรศวรจึงสร้างเจดีย์เอาไว้ในบริเวณที่ทรงกระทำยุทธหัตถี กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ว่าเป็นเพราะครั้งนั้นพระองค์ท่านจะประหารทหารหลายนายที่ทำงานผิดพลาดจนพระองค์ท่านตกอยู่ในวงล้อมพม่า สมเด็จพระวันรัตน์ได้ขอให้พระองค์ท่านทรงไว้ชีวิตและพูดเชิงว่าควรเอาอย่างกษัตริย์นักรบชาวลังกาที่รบเสร็จก็สร้างกุศลด้วยการสร้างเจดีย์ พระองค์ท่านจึงทรงสร้างเจดีย์ยุทธหัตถีขึ้น
เจดีย์ดั้งเดิมที่สมเด็จพระเนรศวรทรงสร้างไว้ในปี พ.ศ. 2135 เป็นเจดีย์ที่มีฐานทักษิณสี่เหลี่ยม 3 ชั้น ฐานทักษิณชั้นล่างสุดยาว 8 วา ต่อมากรมศิลปากรทำการบูรณะใหม่โดยทำเจดีย์ทรงระฆัง ตามแบบวัดใหญ่ชัยมงคล ครอบเจดีย์องค์เดิม โดยเจดีย์องค์ใหม่นี้มีความสูง 66 เมตร ฐานกว้าง 36 เมตร รูปแบบเจดีย์นี้ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 และสร้างจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2497 โดยปกติแล้วฐานของเจดีย์จะเป็นกรุสำหรับเก็บของมีค่า เช่น เครื่องทอง พระเครื่อง ผอบพระธาตุ แต่เจดีย์ยุทธหัตถีเป็นเจดีย์เดียวในประเทศไทยที่ฐานขององค์เจดีย์เป็นห้องแสดงประวัติศาสตร์ มีภาพเกี่ยวกับพระราชประวัติสมเด็จพระเนรศวรและการรบในครั้งนั้น นอกจากนี้ยังมีหุ่นจำลอง แสดงเหตุการณ์ไทยรบกับพม่าในรัชสมัยสมเด็จพระเนรศวรมหาราชอีกด้วย ไฮไลท์ของในห้องแสดงประวัติศาสตร์ คือ ฐานเจดีย์เก่าที่พระเนรศวรทรงสร้างเอาไว้แต่เดิม ที่จัดแสดงในตู้กระจกให้ประชาชนได้ชม
- งานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ งานอนุสรณ์ดอนเจดีย์จัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยมีการตกแต่งไฟสวยงามที่องค์เจดีย์และส่องไฟพระบรมราชานุสาวรีย์ มีตลาดนัดในยามค่ำคืนขายของมากมายหลากหลายชนิด และมีการจุดดอกไม้ไฟชนิดอลังการงานสร้าง จุดเด่นของงานคือการแสดงกลางแจ้ง เป็นเรื่องราวการรบของไทยกับพม่า รวมถึงการแสดงชนช้างและยุทธหัตถี ท่ามกลางแสงสีตระการตา ใช้ช้างจริง ม้าจริง และคนจริงอีกหลายร้อยคนในการแสดง นอกจากนี้ยังมีการแสดงอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การประกวดเงาเสียงนักร้องลูกทุ่ง การประกวดธิดาดอนเจดีย์ และการแสดงโขน เป็นต้น
วิธีการเดินทาง
จากตัวเมืองสุพรรณใช้ทางคู่ขนานบางบัวทองสุพรรณบุรีไปตำบลดอนเจดีย์ เลี้ยวขวาเข้าถนน 3038 เลี้ยวขวาผ่านหน้าสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอดอนเจดีย์ อนุสรณ์ดอนเจดีย์มีลักษณะเป็นวงเวียน อยู่ตรงหน้า อ้อมวงเวียนเข้าจอดตรงข้ามกับสำนักงานที่ดินอำเภอดอนเจดีย์