อุทยานประวัติศาสตร์ อยุธยา Ayutthaya Historical Park


อัพเดตล่าสุดเมื่อ 21 กรกฎาคม 2567

 

อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เป็นมรดกโลกบนพื้นที่ 3,000 ไร่ ประกอบไปด้วยวัดโบราณที่ยังคงมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่กว่า 10 วัด เช่น วิหารมงคลบพิตร วัดพนัญเชิง ซากโบราณสถานกว่า 365 แห่ง เช่น วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดไชยวัฒนาราม

            พระนครศรีอยุธยาเริ่มต้นขึ้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนาพระนครศรีอยุธยาขึ้นในปี พ.ศ. 1893 และล่มสลายลงในปี พ.ศ. 2310 เนื่องจากการเสียกรุงครั้งที่ 2 ให้กับพม่า ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้มีการฟื้นฟู โบราณสถานในอยุธยาขึ้น ต่อมารัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้พระยาโบราณราชธานินทร์ ขุดและปรับแต่งโบราณสถานในอยุธยา

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2474 กรมศิลปากรได้ประกาศให้โบราณสถาน 69 แห่งในเกาะเมืองอยุธยาเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ จากนั้นในปี พ.ศ. 2519 มีการจัดทำโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยาขึ้น เพื่อกรมศิลปากรจะได้เข้าไปขุดค้นและบูรณะโบราณสถานเหล่านั้น รวมพื้นที่ขณะนั้น 1,810 ไร่ ประกอบไปด้วย พระราชวังโบราณวัด, พระศรีสรรเพชญ์, วัดมหาธาตุ, วัดราชบูรณะ, วัดพระราม และวิหารมงคลบพิตร

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2534 อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกพร้อมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร

ในปี พ.ศ. 2540 กรมศิลปากรได้ประกาศเพิ่มเนื้อที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามีเนื้อที่ทั้งหมด 3,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่โบราณสถานต่างๆ อาทิ พระราชวังจันทรเกษม กำแพงป้อมปราการกรุงเก่า วัดใหญ่ชัยมงคล วัดไชยวัฒนาราม วัดพนัญเชิง วัดกษัตราธิราชวรวิหาร หมู่บ้านโปรตุเกส หมู่บ้านฮอลันดา หมู่บ้านญี่ปุ่น เพนียดคล้องช้าง โบสถ์นักบุญยอเซฟ วัดพุทไธศวรรย์ วัดหน้าพระเมรุ

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาแม้มีพื้นที่ทั้งหมด 3,000 ไร่ แต่เป็นมรดกโลกเพียง 1,810 ไร่เท่านั้น เพราะพื้นที่ที่ประกาศเพิ่มเติมมาในปี พ.ศ. 2540 ไม่ได้ขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกแต่ประการใด

สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา

วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดแห่งเดียวในอยุธยาที่อยู่ในพระราชวังโบราณ อีกทั้งยังเป็นวัดเดียวในอยุธยาที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา และวัดพระศรีสรรเพชญ์นี่แหละที่เป็นต้นแบบของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว

วัดราชบูรณะ ในปี พ.ศ. 1967 เจ้าสามพระยาซึ่งขณะนั้นเสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 โปรดให้สร้างวัดราชบูรณะขึ้นในบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระศพเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา หลังจากที่ทรงสิ้นพระชนม์เนื่องจากการช่วงชิงราชบัลลังก์ กรมศิลปากรขุดพบเครื่องทองจำนวนมากใต้กรุภายในพระปรางค์ประธาน ปัจจุบันเครื่องทองถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสามพระยา

วิหารมงคลบพิตร วัดอารามหลวงในกำแพงเมือง ทางทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระประธานของวิหารคือพระมงคลบพิตร สันนิษฐานว่าพระมงคลบพิตรถูกสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระไชยราชา ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามได้มีการบูรณะพระมงคลบพิตรครั้งใหญ่ และพบพระโบราณจำนวนมากอยู่ที่พระอุระด้านขวาของพระมงคลบพิตร ปัจจุบันพระพุทธรูปเหล่านั้น ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ จันทรเกษม และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

วัดหน้าพระเมรุ วัดหน้าพระเมรุมีชื่อทางการว่า ‘วัดพระเมรุราชิการามวรวิหาร’ เป็นวัดสำคัญหนึ่งเดียวในอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าเผาทำลายเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 หน้าบันทำเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค แสดงว่าเป็นวัดพระอารามหลวง ผังวัดเปรียบโบสถ์เป็นเขาพระสุเมรุตามคติความเชื่อแบบอินเดียโบราณผสมกับแนวความเชื่อไทยพุทธช่วยกลางอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์