เจดีย์ศรีสุริโยทัย เจดีย์สีทองอร่ามตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา


อัพเดตล่าสุดเมื่อ 21 กรกฎาคม 2567

 

เจดีย์ศรีสุริโยทัย: เจดีย์สีทองอร่ามตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนสถานที่ถวายเพลิงพระศพสมเด็จพระศรีสุริโยทัย วีรสตรีไทย ผู้ไสช้างเข้าขวางช้างพระเจ้าแปร เจดีย์แห่งนี้เป็นโบราณสถานอยู่บนเกาะเมืองอยุธยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก พร้อมพิพิธภัณฑ์และศาลพระศรีสุริดยทัย

เมื่อครั้งที่พม่ายกทัพล้อมพระนคร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปรและเกิดเพลี่ยงพล้ำ สมเด็จพระศรีสุริโยทัยซึ่งแต่งองค์ในแบบพระมหาอุปราชจึงไสช้างเข้าขวางช้างพระเจ้าแปร พระเจ้าแปรก็ลงง้างต้องพระองค์ขาดสะพายแล่ง

หลังจากที่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยสิ้นพระชนม์แล้ว ได้มีการเชิญพระศพมาไว้ที่สวนหลวงของวังหลัง ใกล้กับวัดสบสวรรค์ และจัดถวายเพลิงพระศพขึ้นที่สวนหลวง จากนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงทรงสร้างวัดบริเวณสวนหลวงขึ้นโดยมีเจดีย์ย่อมมุมไม้สิบสองเป็นเจดีย์ประธาน เรียกชื่อวัดว่า ‘วัดสวนหลวงสบสวรรค์’

จดหมายเหตุหลายฉบับบันทึกเอาไว้ว่า วัดสวนหลวงฯ และวัดสบสวรรค์เป็นคนละวัดกัน โดยมีคลองฉางมหาไชยกั้น วัดสบสวรรค์มีเจดีย์ทรงลังกาแฝด 2 องค์ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า เจดีย์ทรงลังกาแฝด 2 องค์นั้น คือ ที่บรรจุพระอัฐิสมเด็จพระศรีสุริโยทัยองค์หนึ่งและพระราชบุตรี ที่ทรงแต่งองค์เป็นชายเข้าร่วมรบในสงครามและสิ้นพระชนม์พร้อมกับสมเด็จพระศรีสุริโยทัยอีกองค์หนึ่ง ส่วนเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองของวัดสวนหลวงฯ เป็นเจดีย์ที่รำลึกถึงสถานที่ถวายเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีสุริโยทัยเท่านั้น

วัดสวนหลวงฯ และวัดสบสวรรค์ถูกทิ้งร้างตั้งแต่เมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 ส่วนคลองฉางมหาชัยก็ถูกทับถมกลายเป็นที่ดินเปล่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระยาโบราณราชธานินทร์ (ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์จันทรเกษม) ได้ศึกษาจนสืบทราบว่าวัดสวนหลวงและวัดสบสวรรค์ที่แท้อยู่บริเวณใด ปรากฏว่าที่ดินของวังหลัง วัดสวนหลวง และวัดสบสวรรค์ถูกทำเป็นกองพลทหารบกไปเสียแล้ว

หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์บันทึกไว้ว่าเนื่องจากเจดีย์ต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในบริเวณนั้น เป็นอุปสรรคในการซ้อมยิงปืนใหญ่ของทหาร กองพลทหารบกจึงทำหนังสือขออนุญาตรื้อเจดีย์ไปทางกรุงเทพฯ และทางกรุงเทพฯ ก็อนุญาต โดยขอให้เก็บเจดีย์บรรจุพระอัฐิสมเด็จพระศรีสุริโยทัยเอาไว้ ทว่าทหารไม่มีความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ จึงรื้อเจดีย์ทรงลังกาแฝดขอองวัดสบสวรรค์ออก เหลือไว้เพียงเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองของวัดสวนหลวงเท่านั้น ต่อมารัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานชื่อเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองนี้ว่า “เจดีย์พระศรีสุริโยทัย”

ในปี พ.ศ. 2533 กรมศิลปากรได้เข้าเปิดกรุเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองและพบว่าภายในไม่มีพระอัฐิสมเด็จพระศรีสุริโยทัย แต่พบของล้ำค่ามากมาย เช่น เครื่องราชูปโภคจำลอง สถูปผลึกแก้วจำลอง พระบรมสารีริกธาตุในผอบ และพระพุทธรูปปางมารวิชัยทำจากผลึกแก้วสีขาว ทั้งหมดได้ถูกนำมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา

สิ่งที่น่าสนใจ

▌พระพุทธสุริโยทัย สิริกิติทีฆายุมงคล

ในปี พ.ศ. 2535 กรมศิลปากรรวมกับกองบัญชาการทหารสูงสุด สร้างพระพุทธรูป “สุริโยทัย สิริกิติฑีฆายุมงคล” ประดิษฐานภายในเจดีย์พระศรีสุริโยทัย เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 มีพระชนมายุครบ 60 พรรษา เจดีย์ศรีสุริโยทัยมีบันไดทางขึ้นอยู่ทางทิศเหนือนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปกราบพระพุทธรูปดังกล่าวได้

▌พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย

ใกล้กับเจดีย์พระศรีสุริโยทัยมีอาคารพิพิธภัณฑ์ภายในจัดนิทรรศการสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ซึ่งมีทั้งประวัติ ภาพวาด และวัตถุโบราณจัดแสดง อาคารพิพิธภัณฑ์นี้เดิมคือกองพลทหารบกที่ 3 ในสมัยรัชกาลที่ 5

▌ศาลพระศรีสุริโยทัย

ศาลพระศรีสุริโยทัยเป็นเรือนไทยจัตุรมุขในสวนหย่อมใกล้เจดีย์ มีพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงเครื่องนักรบอยู่ภายใน เนื่องจากระเบียงแก้วของเจดีย์ ไม่อนุญาตให้จุดธูปเทียนหรือตั้งเครื่องบูชา นักท่องเที่ยวจึงต้องมากราบสักการะท่านที่ศาลพระศรีสุริโยทัย


Exit mobile version