หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน
หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน เป็นเรือนไทยริมแม่น้ำป่าสักที่เก็บและแสดงเรื่องราวความเป็นชาวไทยวนเอาไว้ที่นี่ ทำให้ได้รู้จักชาวไทยวนมากกว่าจะได้เห็นความเป็นอยู่ของชุมชนทั่วไป
ไท-ยวน คือกลุ่มชาวล้านนาที่อพยพจากเชียงแสนมาตั้งรกรากที่สระบุรีเมื่อ 200 กว่าปีที่ผ่านมา บางคนเรียกชาวโยนก (คำว่า ยวน ใช้ ย ยักษ์ ไม่ใช่ ญวน ที่หมายถึงชาวเวียดนาม) กลุ่มชนกลุ่มนี้มีวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่า หากเวลาผ่านไปอีกรุ่นหนึ่ง สิ่งเหล่านั้นจะยังคงอยู่หรือไม่ แต่สำหรับหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวนนั้น ยังคงรวบรวมสิ่งต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วน
หมู่เรือนไทย มีมากกว่า 14 หลัง เมื่อเข้าไปในบริเวณหอวัฒนธรรมแห่งนี้ สิ่งที่โดดเด่นคือ หมู่เรือนไทย เรือนไม้หลังคามุงจาก มีชั้นล่าง บันไดขึ้นชั้นบนแบบเรือนไทยโบราณ ฝาบ้านเป็นไม้แผ่นไม่ได้ตกแต่งลงแล็กเกอร์ จึงเห็นความเก่าและความต่างของสีไม้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเนิ่นนาน ชายคามีกรงนกแขวนเอาไว้ ใต้ถุนมีจักรยาน ปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้ข้างบน มีกระดานไม้ทำทางยื่นออกไปสู่แม่น้ำ
ขึ้นบันไดเรือน จะเห็นข้าวของเครื่องใช้ เสมือนบ้านมีการใช้งาน แต่เป็นการวางเพื่อแสดงให้เห็น จุดเด่นๆ ที่คนนิยมเข้าไปนั่งถ่ายภาพก็คือ การนั่งวางมาดบนตั่ง ที่มีโต๊ะเคียง วางเครื่องน้ำชา แล้วแอ๊คชั่นกำลังจิบน้ำชาด้วยเครื่องใช้ยุคเก่า ได้เก็บภาพถ่ายโบราณเอาไว้ ยิ่งถ้าได้เปลี่ยนเครื่องแต่งกายแบบไทยวนด้วยแล้ว เข้ากับบรรยากาศบ้านมาก
อนึ่ง เรือนไทยที่แสดงให้เห็นนั้น มีทั้งแนวไทยวน และแนวเรือนไทยอยุธยา สุพรรณบุรี หลังคาทำเป็นจั่ว มีกาแล
มีเรือจอดลอยอยู่ใกล้ๆ เป็นสิบๆ ลำ คือ การแสดงให้เห็นพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้าน ลุ่มน้ำป่าสัก แสดงเรือที่คนไทยใช้ในสมัยโบราณ ตามประสาบ้านริมน้ำ
พักโฮมสเตย์ ถ้าอยากสัมผัสวิถีชีวิตแบบชาวบ้านอย่างใกล้ชิดมากขึ้นไปอีก ต้องลองพักโฮมสเตย์ที่นี่
วัฒนธรรมพื้นบ้านไม่ว่าจะเป็นไทยวน หรือไทยโบราณใดๆ ก็ตาม หากปล่อยทิ้งไป ลูกหลานไทยจะได้เห็นแต่ภาพถ่าย และจินตนาการ เพราะถูกวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่เข้ามาถึงตัวคนรุ่นใหม่ได้เร็วกลมกลืนจนเลือนหายไป ดังนั้น จึงเป็นการดีที่มีคนที่มีใจรัก ช่วยกันรักษาเก็บเอาไว้ มีความงามด้านวัฒนธรรมให้เห็นภายใต้ความเก่าแก่
ที่ตั้ง
48 หมู่ 6 ตำบลดาวเรือง อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี 18000