พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)


อัพเดตล่าสุดเมื่อ 21 กรกฎาคม 2567

 

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) กราบสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อทดแทนพระบรมรูปเดิมซึ่งถูกอัญเชิญจากวัดพุทไธสวรรย์ไปประดิษฐานยังวัดพระแก้ว ชมนิทรรศการพระเจ้าอู่ทองในศาลาหลังพระบรมราชานุสาวรีย์ และชมต้นหมัน ต้นไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง มีพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล จ.ศ. 676 (ตรงกับปี พ.ศ. 1857) ทรงสถาปนาราชธานีที่หนองโสน มีชื่อว่า กรุงเพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ เมื่อวันศุกร์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล โทศก ตรงกับวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 1893 เวลา 3 นาฬิกา 9 บาท

หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าอู่ทองสวรรคต เมื่อปีระกา พ.ศ. 1912 มีการจัดสร้างพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าอู่ทองขึ้น เรียกกันว่า พระเชษฐบิดร (บ้างเรียกพระเทพบิดร) ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ เวลาถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ขุนนางจะต้องกราบพระเชษฐบิดรก่อนแล้วจึงเข้าถือน้ำพิพัฒน์สตยา ขุนนางปฏิบัติเช่นนี้ตลอดมาจนเสียกรุงครั้งที่สอง สมเด็จพระเจ้าตากสินได้บูรณะพระเชษฐบิดรและประดิษฐานไว้ที่ซุ้มประตูด้านหนึ่งของปรางค์ประธาน วัดพุทไธศวรรย์ ต่อมาพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเทพพลภักดิ์ ในรัชกาลที่ 1 ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตย้ายพระเชษฐบิดรมาประดิษฐานในกรุงเทพ ในหลวงรัชกาลที่ 1 ทรงพระราชดำริจะฟื้นฟูพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาอยู่แล้ว จึงโปรดให้อัญเชิญพระเชษฐบิดรมาหล่อดัดแปลงใหม่ และพระราชทานชื่อว่า “เทวรูปพระเจ้าอู่ทอง” ประดิษฐานที่หอพระเทพบิดร ในวัดพระแก้ว เมื่อข้าราชการจะถือน้ำพิพัฒน์สัตยาจะต้องกราบสักการะเทวรูปพระเจ้าอู่ทองเสียก่อน เหมือนอย่างที่เคยกระทำมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

แม้ว่าพระบรมรูปเดิมจะถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระแก้วในกรุงเทพมหานครกว่า 200 ปี แต่ชาวอยุธยายังคงรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระเจ้าอู่ทองเสมอมา ในที่สุดจึงมีการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าอู่ทองขึ้นใหม่ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเททองหล่อที่สำนักหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2512 และเสด็จเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2513 โดยพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าอู่ทองนี้ประดิษฐานอยู่ระหว่างบึงพระรามและวัดพระศรีสรรเพชญ์

            สิ่งที่น่าสนใจ

  1. พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบรมราชานุสาวรีย์ขนาดเท่าครึ่งของคนจริง หล่อทองสำริด รมน้ำยาสีเขียว ฉลองพระองค์แบบอยุธยาตอนต้น ประทับยืนพระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์
  2. นิทรรศการ ศาลาด้านหลังอนุสาวรีย์เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติพระเจ้าอู่ทอง และพระราชกรณียกิจสำคัญ เช่น การเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ การสงครามที่ทรงกำชัยเหนือเขมร และการประกาศใช้กฎหมาย 10 ฉบับ เช่น พระราชบัญญัติลักษณะพยาน พระราชบัญญัติลักษณะอาญาหลวง (คดีอาญาที่ยอมความไม่ได้) พระราชบัญญัติลักษณะอาญาราษฎร์ (คดีอาญาที่ยอมความได้) พระราชบัญญัติลักษณะผัวเมีย และกฎหมายเบ็ดเสร็จว่าด้วยที่ดิน เป็นต้น กฎหมายเหล่านี้เป็นต้นแบบของกฎหมายตราสามดวงและกฎหมายอื่นๆ ในสมัยรัตนโกสินทร์
  3. งานทำบุญอุทิศส่วนกุศล เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 1893 ในวันที่ 3 เมษายนของทุกปี จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงจัดงานวันสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระเจ้าอู่ทอง โดยมีการทำบุญบำเพ็ญกุศลถวายสมเด็จพระเจ้าอู่ทองที่พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปทำบุญตักบาตรร่วมกับชาวเมืองอยุธยาได้ในวันดังกล่าว
  4. ชมต้นหมัน ต้นไม้ประจำจังหวัด ใกล้กับพระบรมราชานุสาวรีย์มีต้นหมัน ต้นไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยู่ ตามพระราชพงศาวดารสยาม ฉบับบริติชมิวเซี่ยม กรุงลอนดอน พ.ศ.๒๕๓๗ บันทึกเหตุการณ์เอาไว้ว่าในวันสถาปนากรุงศรีอยุธยา พราหมณ์ให้ฤกษ์พิธีกลบบาท ในพิธีดังกล่าวพราหมณ์เสี่ยงทายขุดได้ต้นหมันและสังข์ทักษิณาวรรต ด้วยเหตุนี้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงกำหนดให้ต้นหมันเป็นต้นไม้ประจำจังหวัด

Exit mobile version