อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์


อัพเดตล่าสุดเมื่อ 21 กรกฎาคม 2567

 

อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ เป็นสถานที่แห่งการศึกษาประวัติศาสตร์จากโบราณสถานที่ยังคงเหลืออยู่บนพื้นที่กว้างขวาง จากงานก่อสร้างที่เกิดจากหินศิลาแลง และรูปแบบที่ไม่น่าจะใช่ศิลปะของไทย ชวนให้อยากย้อนหลังไปศึกษาที่มา ทั้งยุครุ่งเรือง และยุคเสื่อม ของที่นี่

          ตามประวัติศาสตร์ที่นี่มีการขุดแต่งจากกรมศิลปากร เริ่มต้นที่ปี 2478 ทำให้ค้นพบวัตถุโบราณ และมีการบูรณะโบราณสถานแบบต่อเนื่องจริงจังตั้งแต่ปี 2517-2530 และได้รับการระบุว่า จากสภาพของสถาปัตยกรรมของตัวปราสาทเมืองสิงห์ที่มีความคล้ายกับสถาปัตย์การก่อสร้างในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นกษัตริย์แห่งขอมที่นิยมสร้างปราสาทเป็นอย่างยิ่ง

            เป็นพุทธศาสนสถานในนิกายมหายาน หลักฐานที่ยืนยันเช่นนั้นมาจาก พระพุทธรูปนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและนางปรัชญาปารมิตา มีการสืบสาวไปถึงศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์เมืองพระนครประเทศกัมพูชา ที่ระบุว่ามีการสร้างปราสาทไว้ที่เมืองศรีชัยสิงห์บุรี ทำให้มีความเชื่อว่าคือปราสาทหลังนี้นั่นเอง

ลักษณะของที่นี่มองเห็นเป็นผังเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวปราสาท กำแพงเมือง ตลอดจนซากปรักหักพัง เป็นศิลาแลง กำแพงโดยรอบมีขนาด 800 x 850 x 7 เมตร  มี 4 ประตูโดยรอบ ภายในมีสระน้ำ 6 แห่ง มีคูน้ำโดยรอบ

เมื่อเข้าไปภายในอุทยานปราสาทเมืองสิงห์แห่งนี้จะพบว่า ที่นี่ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี มีต้นไม้ใหญ่น้อย เหมือนเป็นสวนป่า ปลูกหญ้าเขียวขจี มีแห้งแล้งบ้างตามฤดูกาล การศึกษาโบราณสถานของที่นี่จะแบ่งตามเป็นสิ่งก่อสร้างแต่ละส่วนที่ยังคงเหลือสภาพไม่เท่ากัน ที่นี่จะเรียกเป็นหมายเลข ในป้ายบอกทางจะบอกเป็น โบราณสถานหมายเลข 1-4 และมี หลุมขุดค้นโครงกระดูก

โบราณสถานหมายเลข 1 นับเป็นปราสาทที่ยังคงเหลือความสมบูรณ์ไว้มากที่สุด มีทั้งร่องรอยและรูปแบบการก่อสร้างที่อ้างอิงได้ชัดเจนว่านี่คือ ศิลปะขอม ซึ่งเข้ามาในเมืองไทยและทิ้งหลักฐานไว้ในหลายสถานที่ คือลักษณะของปราสาทหินศิลาแลง หินก่อนที่เรียงตัวขึ้นไปทั้งตัวปราสาท  ลักษณะของตัวปราสาทที่ลดหลั่น ทำมุมที่เรียกว่า ฐานปัทม์รูปสี่เหลี่ยมยอดเก็จ ซุ้มประตูที่เป็นรูปโค้ง ทางเข้าที่เหนือจากพื้น ภายในตัวปราสาทแห่งนี้  ด้านในเป็นที่ประดิษฐานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ในพุทธมหายาน เอกลักษณ์ของภายในปราสาทก็คือ ช่องประตูที่อยู่ในแนวเดียวกัน สามารมองทะลุจากประตูแรกไปถึงประตูท้ายได้
ส่วนอื่น ๆ คือ โบราณสถานหมายเลข 2-4 จะคงเหลือสภาพลดน้อยลงไป บางส่วนเหลือเพียงซาก
ฐานของปราสาท บางที่เหลือให้เห็นเป็นเพียงแนวสี่เหลี่ยมแสดงอาณาเขตของสิ่งก่อสร้าง

            ส่วนหลุมขุดค้นโครงกระดูกนั้น จะแสดงสิ่งที่ขุดค้นได้อย่างโครงกระดูก อุปกรณ์ต่างๆ ภาชนะที่ใช้ในยุคก่อน สร้อยคอที่ทำจากลูกปัด ลูกหิน เป็นต้น

การเที่ยวชมโบราณสถาน โบราณวัตถุเก่าๆ นั้น จำเป็นอย่างยิ่งคือ การได้ศึกษาไปล่วงหน้าก่อนว่า เรากำลังจะไปดูอะไร มีประวัติความเป็นมาหรือมีความสำคัญอย่างไรที่เราควรไปดู ไปศึกษา ไม่เช่นนั้น คุณค่าของการชมจะไม่มีประโยชน์เลย เหมือนไปเดินดูสิ่งปลูกสร้างเก่าๆ หรือซากเก่าๆ ที่แทบไม่เห็นว่าเป็นอย่างไรมาก่อน ซึ่งทำให้หมดสนุกกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เช่นนี้

ที่ตั้ง

ตำบลสิงห์ อำเภอ ไทรโยค กาญจนบุรี 71150

Photo by นายภาดา กาญจนภิญพงศ์ from commons.wikimedia.org/wiki/File:ปราสาทเมืองสิงห์_จ.กาญจนบุรี.jpg [CC by 2.0]


Exit mobile version