พิพิธภัณท์ภาพยนตร์ไทย


อัพเดตล่าสุดเมื่อ 21 กรกฎาคม 2567

 

พิพิธภัณท์ภาพยนตร์ไทย เป็นสถานที่เก็บรวบรวมประวัติศาสตร์ การสร้างภาพยนตร์ไทย จำลองโรงหนังอันเป็นประวัติศาสตร์ของเมืองไทย เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ไทยในอดีต

จากจุดเริ่มต้นของการสร้างหอภาพยนตร์แห่งชาติ ปัจจุบันได้ย้ายจากกรุงเทพฯ มาอยู่ที่นี่และมีเอกชนเป็นคนดำเนินงานต่อ

สิ่งที่จะได้เห็นในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ประกอบด้วยหลายส่วน คือ หอภาพยนตร์ พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ และห้องสมุด ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้จะทำให้นักท่องเที่ยวได้เห็นสถานที่จำลองโรงหนังรุ่นแรกๆ อุปกรณ์ถ่ายหนัง วิวัฒนาการของภาพยนตร์

อาคารแรก สีเหลืองและครีม เขียนว่า ภาพยนตร์เสียง ศรีกรุง มีหุ่นปั้นผู้ชายใส่หมวก ชุดไทยโบราณคือยังนุ่งโจงกระเบน มือจับกล้องถ่ายภาพรุ่นเก่า ท่านคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นพระบิดาแห่งภาพยนตร์สยาม สถานที่นี้คือ หอภาพยนตร์ ที่เขียนว่า”ศรีกรุง” นั้นเพราะได้จำลองลักษณะของโรงถ่ายศรีกรุงในอดีตโดยย่อส่วนให้เล็กกว่าของจริง เหลือขนาด 1 ใน 4 เท่านั้น

อาคารจำลองโรงภาพยนตร์เฉลิมไทย โรงหนังในตำนานที่เคยตั้งอยู่มุมถนนราชดำเนิน เป็นโรงหนังเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2483 แต่ถูกรื้อถอนในปี 2532 เพราะบดบังทัศนียภาพของโลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร
การจัดแสดงเกี่ยวกับหนังและอุปกรณ์มีทั้งด้านในและด้านนอก ด้านในเป็นพวกแผ่นเสียง ภาพถ่าย สูจิบัตร อุปกรณ์ประกอบฉาก ฟิล์มหนัง เครื่องฉายหนังรุ่นเก่าๆ แสดงไว้  การเข้าชมจะมีคนช่วยบรรยายให้เข้าใจ เพราะสิ่งของเหล่านี้เป็นของเก่าที่หลายอย่างปัจจุบันไม่มีใครใช้แล้ว
รถไฟ เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ เพราะในอดีตจะมีการขายภาพยนตร์ให้สายหนังทั่วประเทศ ต้องมีการส่งฟิล์มไปต่างจังหวัด

ห้องจำลองโรงหนัง แสดงให้เห็นขั้นตอนการเข้าชมภาพยนตร์ในอดีต ฟิล์มหนังที่เมื่อก่อนต้องอาศัยมือหมุน ม้านั่งที่มีทั้งเป็นม้ายาวทำด้วยไม้มีพนักพิง ตัวหนึ่งหนั่งหลายคน กับอีกส่วนที่ใช้เป็นเก้าอี้เดี่ยวแต่ละตัววางระนาบเดียวกัน ไม่ใช่เป็นขั้นบันไดเหมือนในปัจจุบัน

ฟิล์มที่ยังต้องอาศัยการล้าง และหนีบตาก

ห้องจำลองการทำงานของ ส. อาสนจินดา วิจิตร คุณาวุฒิ คนมีชื่อเสียงยุคแรกๆ ของหนังไทย ทั้งจอเงินและจอแก้ว รวมทั้งรูปปั้นของ รัตน์ เปสตันยี ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคนแรก ฉากจำลองจากหนังไทย

รอบบริเวณมีอาคารปลูกสร้างอยู่พอสมควร ทั้งอาคารทันสมัย มีชื่ออาคารภาษาอังกฤษ มีป้ายบอกตำแหน่งของแต่ละที่เป็นลูกศรชี้ เช่น  ประตูสามยอด:บางกอก ซึ่งเป็นย่านการค้าชื่อดังในยุคร.5 และเป็นจุดเริ่มต้นของหนังไทย, โรงละครมงคลบริษัท ของหม่อมเจ้าอลังการซึ่งเป็นโรงละครยุคบุกเบิก, มายาพาณิชย์ และถ้ำมองคิเนโตสโคป:นิวยอร์ก ซึ่งเป็นภาพยนตร์แบบตู้ถ้ำมองของโทมัส เอดิสัน, ประตูสามยอด สถานที่ฉายหนังแห่งแรกของไทย เป็นต้น

โชว์หัวรถจักรโบราณ รถจักรไอน้ำ แสดงความสัมพันธ์ของภาพยนตร์และการรถไฟที่เคยพึ่งพากันในประวัติศาสตร์
นิทรรศการกลางแจ้ง แสดงประวัติศาสตร์หนังไทยและของต่างประเทศ
โรงหนังศรีศาลายา จัดให้ชมภาพยนตร์ฟรี โปรแกรมหนังนั้นจะสลับปรับเปลี่ยนกันไป เป็นหนังไทยรุ่นเก่าที่หาดูไม่ได้แล้ว

เสาหลักกิโลเมตร ที่เขียนไว้ว่า ลานดารา 1 ณ จุดนี้เป็นที่ประทับรอยมือ รอยเท้าของดาราไทยที่มีชื่อเสียง ตั้งแต่ในอดีตมา แต่เป็นดารายุคเก่าๆ ถึงปี 2559 เท่านั้น มีทั้งสิ้น 166 คน ที่มีโอกาสมาประทับรอยเท้าไว้ที่นี่

โรงถ่ายภาพยนตร์จำลอง “แบล็คมารีอา” เป็นโรงถ่ายแห่งแรกของโลก จึงมีรูปหล่อจำลองของผู้ริเริ่ม ผู้ผลิตฟิล์ม อย่าง โทมัส อัลวา เอดิสัน ,จำลองจอร์จ อีสต์แมน

จำลองโรงหนังตังค์แดง Nikelodeon โรงมหรสพแห่งแรกของอเมริกา ปีพ.ศ. 2448 ที่เมืองพิทท์สเบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย

รถฉายหนังขายยา ของบริษัท ห้างขายยาเพ็ญภาค จำกัด (ตราพระยานาค) กรุงเทพฯ คันสีฟ้าขาว นี่คือประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย ที่มีการฉายหนังให้ชมฟรีในสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และในระหว่างฉายภาพยนตร์ จะมีจังหวะหยุดเพื่อประกาศขายยา นอกจากตัวรถแล้ว ยังมีตู้กระจกที่แสดงถึงสิ่งของที่นิยมพ่วงไปกับรถฉายหนังที่เรียกว่า “หนังขายยา” ด้วย ซึ่งมีประเภท สบู่ ยาสีฟัน แป้ง ยาดม ยาลม ยาหม่อง ยาหอม เป็นต้น
เอกสาร หนังสือ วิทยานิพนธ์ สื่อโสตทัศน์ มีจัดแสดงไว้ในห้องสมุด ความพิเศษของผู้กำกับชื่อดัง เชิด ทรงศรี ที่สร้างหนังอนุรักษ์ความเป็นไทยมาตลอด ยังเห็นมีโปสเตอร์หนัง แผลเก่า ฯ  ล้วนน่าสนใจทั้งสิ้น

ใครชื่นชอบ อยากซื้อสินค้าไปเป็นที่ระลึก ที่นี่มีจำหน่าย หนังสือ แสตมป์ เสื้อ ปากกา ฯลฯ

สำหรับคนที่ชื่นชอบภาพยนตร์ อยากรู้ อยากเห็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เรื่องราว แวะไปเที่ยวที่นี่ ไม่ผิดหวัง นอกจากเห็น ยังได้ยินเรื่องราวเก่าๆ ที่หลายเรื่องไม่เกิดขึ้นแล้ว เพราะภาพยนตร์มีการเปลี่ยนแปลงทันสมัยยิ่งขึ้น

ที่ตั้ง

94 หมู่ 3 ถนนพุทธมณฑลสาย 5 อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170


Exit mobile version