วัดดุสิดาราม
วัดดุสิดาราม วัดแห่งเจ้าแม่วัดดุสิต ตื่นตากับเสมาโบราณตั้งแต่ยุคอโยธยาศรีรามเทพนคร และกราบพระพุทธบาทโบราณที่จดหมายเหตุแกมป์เฟอร์เคยกล่าวถึง พร้อมสักการะสองท้าวจตุโลกบาลเพื่อความร่ำรวย แคล้วคลาด แก้ปีชง
ตามตำนานเล่าว่าวัดดุสิดารามสร้างขึ้นโดยเจ้าแม่วัดดุสิต ผู้เป็นหม่อมเจ้าทางสายสมเด็จพระมหาธรรมราชา อีกทั้งยังเป็นมารดาพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) และ พระยาโกษาธิบดี (ปาน) อีกทั้งยังเป็นพระนมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอีกด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงวัดน่าจะสร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2175 – 2205 ทว่าเอกสารของกรมการศาสนาระบุว่าวัดดุสิดารามได้รับการพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. 2110 ก่อนช่วงเวลาที่เจ้าแม่ดุสิตมีชีวิตอยู่ร่วม 60 ปี
อย่างไรก็ดีตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่าหลังจากที่สมเด็จพระนารายณ์ขึ้นครองราชย์ พระนมได้ขอมาสร้างตำหนักอยู่ข้างวัดดุสิต พระองค์ท่านทรงอนุญาต พระนมจึงอยู่ในตำหนักแห่งนั้น ผู้คนโดยทั่วไปจึงเรียกว่าเจ้าแม่วัดดุสิต ถึงกระนั้นก็ยังมีหลักฐานอื่นๆ ว่าในบั้นปลายพระนมได้บวชชีอยู่วัดดุสิดาราม ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าเจ้าแม่วัดดุสิต
จากสถาปัตยกรรมภายในวัด กรมศิลปากรสันนิษฐานว่าวัดดุสิดารามสร้างขึ้นในช่วงอยุธยาตอนกลางและได้รับการบูรณะหลายครั้งในช่วงอยุธยาตอนปลาย ทั้งในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ และพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
กรมศิลปากรได้ประกาศให้วัดดุสิดารามเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 และเข้าทำการบูรณะอีกครั้ง
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด
- เจดีย์ประธาน
เจดีย์ประธานของวัดดุสิดารามมีลักษณะคล้ายเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล องค์เป็นทรงระฆังเรียว ด้านบนเป็นเสาหานล้อมก้านฉัตร ฐานเป็นฐานแปดเหลี่ยม มีเจดีย์บริวาร 4 องค์ เจดีย์ประธานเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลางได้รับการบูรณะหลายครั้งในช่วงอยุธยาตอนปลาย โดยเฉพาะฐาน เห็นได้ชัดเจนว่ามีการบูรณะ เจดีย์บริเวณของเดิมเหลืออยู่เพียง 2 องค์ นอกนั้นได้รับการบูรณะใหม่
- อุโบสถ
อุโบสถของวัดเป็นอุโบสถขนาดเล็กศิลปะอยุธยาตอนปลาย หลังคาเป็นกระเบื้องดินเผา ด้านหน้ามีพาไลยื่นออกมา ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น เนื่องจากอุโบสถทรุดโทรมมาก ปัจจุบันจึงมีการสร้างอุโบสถใหม่ขึ้นเพื่อใช้งานจริง
จุดเด่นของอุโบสถคือเสมาหินทรายขาวที่ล้อมอยู่โดยรอบ เพราะเป็นทรงเรียว มีลายดอกไม้ประดับกลาง อีกทั้งยังมีร่องรอยติดกระจก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย ส่วนฐานรองรับเสมาทำเป็นรูปดอกบัว เป็นฐานที่ทำขึ้นใหม่
เนื่องจากพระอุโบสถหลังนี้สร้างขึ้นหลังเจดีย์ประธาน ย่อมหมายความว่าจะต้องมีโบสถ์เก่าที่สร้างขึ้นพร้อมๆ กับวัดและเจดีย์ประธานด้วย แต่น่าจะถูกรื้อถอนออกไป ภายหลังจากที่ได้สร้างอุโบสถหลังนี้ขึ้น
- ศาลา
ศาลาของวัดดุสิดารามเป็นศาลาที่สร้างขึ้นใหม่ แต่มีสิ่งที่นักท่องเที่ยวและสาธุชนจะพลาดไม่ได้ 2 อย่าง คือ
- รอยพระพุทธบาท เป็นรอยพระพุทธบาทศิลปะอยุธยาตอนปลาย ทำจากหินทรายขาวมีธรรมจักรอยู่ตรงกลาง คล้ายรอยพระพุทธบาทที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศส่งไปลังกา รอยพระพุทธบาทชาวบ้านพบจมน้ำอยู่ใกล้วัด จึงอัญเชิญมาประดิษฐานที่ศาลาใหม่นี้ ในช่วงปีพ.ศ. 2508 หรือ 2509 อย่างไรก็ดี นักโบราณคดีสันนิษฐานว่ารอยพระพุทธบาทนี้ คือ รอยพระพุทธบาทที่จดหมายเหตุแกมป์เฟอร์บันทึกไว้ว่าอยู่ที่วัดพระยาพระคลัง (วัดสมณโกฏฐาราม) ซึ่งจากวัดสมณโกฎฐารามสามารถเดินมาวัดดุสิดารามได้โดยใช้เวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้น
- เสมาหินทรายโบราณ
ใบเสมาหินทรายโบราณนี้ตั้งอยู่ที่ด้านหน้าของศาลา โดยเจ้าอาวาส (พระเฉลิม ฐิตสังวโร) เป็นผู้พบใบเสมานี้ในบริเวณใกล้ๆ วัด โดยนักวิชาการได้ให้ความเห็นว่าใบเสมาหินทรายลวดลายแปลกตานี้ เป็นเสมาที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอโยธยาศรีรามเทพนคร ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยากว่า 100 ปี
- อุโบสถใหม่
อุโบสถหลังใหม่ก่อสร้างในปี พ.ศ. 2539 ทว่าไฮไลท์ของโบสถ์ใหม่คือยักษ์สองตนที่สร้างขึ้นไว้หน้าโบสถ์ ได้แก่
- ท้าวธตรัฏฐะ ท้าวธตรัฏฐะ ท้าวจตุโลกบาลประจำทิศตะวันออก เป็นคนธรรพ์ ผิวกายสีเขียว บูชาแล้วจะแคล้วคลาดปลอดภัย
- ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวเวสสุวรรณหรือท้าวกุเวร เป็นหนึ่งในท้าวจตุโลกบาล ประจำทิศเหนือ เชื่อว่าการบูชาท้าวเวสสุวรรณจะช่วยให้ร่ำรวย เหลือกินเหลือใช้ ขจัดสิ่งอัปมงคล และแก้ปีชงได้อีกด้วย