วัดเขาทำเทียม
วัดเขาทำเทียม: วัดแห่งแรกในประเทศไทย สถานที่ที่พระโสณะและพระอุตระจาริกมาสร้างไว้ตั้งแต่สมัยเพราะเจ้าอโศกมหาราช ตื่นตากับหลวงพ่ออู่ทอง พระพุทธรูปแกะสลักจากหน้าผาหิน บนผามังกรบิน พร้อมโพรงถ้ำประดิษฐานสิ่งศักดิสิทธิ์มากมาย
เชื่อกันว่าบริเวณนี้แต่เดิมเป็นวัด และเป็นวัดแห่งแรกในประเทศไทยที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 300 เนื่องจากมีการขุดพบก้อนหินขัดมันขนาดใหญ่ จารึกด้วยภาษาสันสกฤตว่า “ปุษยคิรี” คำๆ นี้มีความหมายมาก เพราะตามประวัติศาสตร์ชมพูทวีป ในพุทธศตวรรษที่ 3 สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ ได้ทำการสังคายนา ครั้งที่ 3 ณ เมืองปาฏลีบุตร โดยมีพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นองค์อุปถัมภ์ จากนั้นพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระได้ส่งพระอรหันต์สมณทูตออกเผยแพร่ศาสนาทั้งหมด 5 องค์ด้วยกัน ได้แก่ พระโสณะ พระมุนียเถระ พระฌานีเถระ พระภูริยเถระและพระอุตตรเถระ โดยส่งออกไปทั้งหมด 9 สาย ครั้งนั้นพระโสณะและพระอุตระเป็นสายที่ 8 ได้เดินทางมายังสุวรรณภูมิ ถึงเขาแห่งหนึ่งที่มีดอกงิ้วสามสีและดอกสุพรรณิกาอยู่มาก สมณทูตทั้งสองได้สร้างอารามเผยแผ่ศาสนาขึ้นที่เขาแห่งนี้ และให้ชื่อว่า “ปุษยคีรี” แปลว่าภูเขาดอกไม้ โดยชื่อนี้นอกจากจะตั้งขึ้นให้สมกับสถานที่แล้วยังตั้งขึ้นเพื่อให้พ้องกับปุษยคีรีสังฆาราม ที่รัฐโอริสสา ประเทศอินเดีย ซึ่งปุษยคีรีสังฆารามนี้ เมื่อครั้งที่พระถังซังจั๋งจาริกสู่ชมพูทวีปก็ได้บันทึกเอาไว้ว่าท่านได้เดินทางผ่านสถูปทรงโอคว่ำสมัยพระเจ้าอโศกที่ปุษยคีรีมหาวิหาร ต่อมาในปี พ.ศ. 2539-2544 นักโบราณคดีอินเดียได้ขุดพบปุษยคีรีสังฆารามมหาวิหาร ที่เชิงเขาลังกุฏี รัฐโอริสสา โดยพบสถูปทรงโอคว่ำตามที่พระถังซังจั๋งได้บันทึกเอาไว้ พร้อมทั้งซากโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมาย
สำหรับหินจารึกภาษาสันสกฤตว่า “ปุษยคีรี” ที่พบบริเวณวัดเขาทำเทียมนี้ มีลักษณะ ลวดลาย เทคนิคการแกะสลักและการขัดมันแบบเดียวกับที่นิยมกันในสมัยพระเจ้าอโศกมหารราช อีกทั้งกรมศิลปากรยังขุดพบโบราณวัตถุอื่นๆ รวมถึงรูปจำหลักปางประสูติ เช่นเดียวกับรูปจำหลักที่พระเจ้าอโศกทรงสร้างไว้ในมหาสถูปสาญจี รัฐมัธยประเทศ อีกทั้งยังขุดพบสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์มากมาย เช่น ธรรมจักร ดอกบัว รอยพระพุทธบาท ซึ่งนิยมสร้างกันในสมัยพระเจ้าอโศก จึงเป็นไปได้ว่าที่นี่คืออารามซึ่งพระพระโสณะและพระอุตระได้จาริกมาและสร้างอารามเพื่อเผยแผ่ศาสนา ปัจจุบันหินจารึกคำว่า “ปุษยคีรี” ได้รับการเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทอง แต่ทางวัดได้ทำหินเลียนแบบหินเดิม สลักภาษาสันสกฤษและมีภาษาไทยกำกับด้านล่างว่า “ปุษยคีรี” วางไว้ในวัดให้นักท่องเที่ยวได้ชมด้วย
นอกจากนี้กรมศิลปากรยังพบอุโบสถสมัยอยุธยาตอนปลาย จึงเป็นไปได้ว่าหลังจากที่ปุษยคีรีถูกทิ้งร้างแล้ว ในสมัยอยุธยาได้มีการสร้างวัดที่บริเวณนี้อีก สำหรับวัดดั้งเดิมสมัยอยุธยาจะมีประวัติอย่างไรไม่ปรากฏ ปรากฏเพียงแต่ว่าชาวบ้านเรียกสถานที่แห่งนี้กันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น วัดเขาธรรมเธียร วัดเขาคำเทียม และวัดเขาถ้ำเทียมสวรรค์ หลังจากที่มีการขุดพบโบราณสถานแล้ว ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างวัดเขาทำเทียมขึ้นอีกครั้ง โดยขออนุญาตก่อสร้างในปี พ.ศ. 2460 พร้อมเขาพระและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2471
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด
- โบราณสถานและโบราณวัตถุ ภายในวัดเขาทำเทียมมีซากโบสถ์และฐานเจดีย์สมัยอยุธยาตอนปลายที่กรมศิลปากรได้ขุดแต่งเสริมความมั่นคงของฐานรากในปี พ.ศ. 2555 โดยเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังกลมฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 6 เมตร โบสถ์สี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูทางเข้าบานเดียว มีใบเสมารายรอบทั้ง 8 ทิศ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ส่วนโบราณวัตถุที่พบมากมายในบริเวณวัดได้รับการเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทองเป็นส่วนใหญ่ นอกจากแผ่นหินสลักชื่อ “ปุษยคิรี” แล้วที่โดดเด่นอีกชิ้นหนึ่งก็คือเสมาธรรมจักรที่เก่าแก่และมีความสมบูรณ์มาก ขุดพบเมื่อปี พ.ศ. 2519 ก็ได้รับการเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์แหงชาติอู่ทองเช่นกัน
- พระพุทธรูปปางเปิดโลก พระพุทธรูปปางเปิดโลกอยู่บนยอดเขาที่นักท่องเที่ยวสามารถสักการะพระพุทธรูปพร้อมชมวิวมุมสูงจากจุดนี้ไปพร้อมๆ กัน พระพุทธรูปปางเปิดโลกเป็นพระปางยืน สองพระพาหาห้อยแนบพระองค์ พระหัตถ์ทั้งสองข้างหันออกด้านหน้า แสดงพุทธประวัติช่วงที่พระพุทธองค์ทรงเปิดทั้งสามโลกให้สัตว์นรก เทวดาบนสวรรค์ และมนุษย์โลกได้เห็นกันและกัน
- พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ หรือหลวงพ่ออู่ทอง เป็นพระพุทธรูปปางโปรดพุทธมารดา แกะสลักจากหน้าผ้าหินชื่อ ‘ผามังกรบิน’ ขนาดหน้าตัก 25 เมตร สูง 35 เมตร โดยเริ่มสร้างเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2557 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 บริเวณนี้แต่เดิมเป็นเขตสัมปทานระเบิดภูเขาทำโรงโม่หิน ทว่าหลังจากปี 2534 ก็ไม่มีการต่อสัมปทานจึงกลายเป็นหน้าผ้าร้าง ต่อมาพระธรรมพุทธิมงคล (สอิ้ง สิรินันโท) เจ้าอาวาสวัดป่าเลไลย์วรวิหาร ดำริสร้างพุทธมณฑลประจำจังหวัด โดยมีอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีช่วยดำเนินการจนแล้วเสร็จ
สำหรับพุทธมณฑลแห่งนี้นอกจากจะมีพระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิแล้ว ทางวัดเขาทำเทียมยังดำริสร้างพระพุทธรูปแกะสลักจากหน้าผาอีกหลายองค์ ได้แก่ สิทธัตถะราชกุมาร (ปางประสูติ) พระพุทธรูปปางสมาธิ (ปางตรัสรู้) พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา และพระพุทธรูปปางปรินิพพาน โดยฐานของหน้าผาที่มีพระพุทธรูปทั้งหมดประดิษฐานเรียงกันเป็นแนวยาวอยู่นี้ จะเจาะเป็นโพรงถ้ำยาวต่อกันตลอดแนว ประดิษฐานสิ่งศักดิสิทธิ์มากมาย
- ภาพสลักหินนูนต่ำ ที่วัดเขาทำเทียมมีภาพสลักหินนูนต่ำ เป็นเรื่องราวพุทธประวัติพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น เมื่อครั้งทรงทำทุกรกิริยา เมื่อครั้งทอดพระเนตรคนเล่นพิณจนทรงหันกลับมายึดถือทางสายกลาง เมื่อครั้งนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส และทรงตรัสรู้
- โพรงถ้ำ ที่วัดแห่งนี้ มีการเจาะโพรงถ้ำให้ปากถ้ำทั้งสองทะลุถึงกันคล้ายอุโมงค์ ภายในประดิษฐานสิ่งศักดิสิทธิมากมาย อาทิ พระพุทธรูปปางสมาธิ ปางโปรดพุทธมารดา พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ พระสีวลีปางธุดงค์ พระแม่ธรณีบีบมวยผม และหลวงจีนชีฉือ โดยหลวงจีนชีฉือคือหลวงจีนอ้วนลงพุงที่คนไทยมักเข้าใจสับสนกับพระสังกัจจายน์พุทธสาวก ข้อแตกต่างที่สังเกตได้ง่ายๆ คือ หลวงจีนชีฉือสวมเสื้อแบบพระจีน ส่วนพระสังกัจจายน์ครองจีวรแบบพระเถรวาทมีสังฆาฏิพาดไหล่ชัดเจน ซึ่งในพุทธนิกายมหายานเชื่อว่าหลวงจีนชีฉือคือมนุษิโพธิสัตว์อริยเมตตรัย หรือชาติสุดท้ายก่อนเกิดเป็นพระศรีอริยเมตรัยนั่นเอง
- กิจกรรมอื่นๆ ในวัด สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสักการะหลวงพ่ออู่ทอง ทางวัดได้จัดทำองค์จำลอง รวมถึงพุทธสัญลักษณ์ กล่าวคือ ดอกบัว เอาไว้ให้สาธุชนได้กราบไหว้บูชาและปิดทองไว้บริเวณศาลาที่สร้างขึ้นใหม่ อีกทั้งยังมีสิทธัตถะราชกุมาร (บางครั้งเรียกปางประสูติ หรือปางเสด็จพระดำเนิน 7 ก้าว) ที่มีลักษณะเป็นสิทธัตถะราชกุมารชี้มือขึ้นฟ้า นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถลอยประทีปเพื่อเป็นสิริมงคลได้อีกด้วย