วัดกุฎีดาว


อัพเดตล่าสุดเมื่อ 21 กรกฎาคม 2567

 

วัดกุฎีดาว: วัดโบราณที่เชื่อว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา แต่ปรากฏซากอาคารที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพักแรมเพื่อควบคุมการบูรณะเอง พบความยิ่งใหญ่ของพระตำหนักกำมะเลียนอดีตที่ประทับของพระองค์ท่านเมื่อครั้งปฏิสังขรณ์วัด เจดีย์ประธานที่ได้รับการบูรณะมากว่า 2 ครั้งในอดีต และวิหารที่ยังคงมีผนัง ช่องหน้าต่าง เสาและบัวหัวเสาให้ชม

            วัดกุฎีดาวเดิมชื่อวัดกุฎิทวา จะสร้างขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏชัด แต่เป็นวัดที่มีตำนานเล่าขานเกี่ยวเนื่องกับวัดมเหยงคณ์เสมอ เช่น ในพงศาวดารเหนือบันทึกว่าพระยาธรรมิกราชเป็นผู้สร้างขึ้นในปีจุลศักราช 671 ปีเถาะ เอกศก และพระอัครมเหสีสร้างวัดมเหยงคณ์ขึ้น หรือเช่น ในคำให้การขุนหลวงหาวัดกล่าวว่าพระมหาบรมราชาทรงสร้างวัดกุฎีดาว และพระภูมินทราธิบดีทรงสร้างวัดมเหยงคณ์

ในพระราชพงศาวดารอยุธยา ไม่มีการบันทึกถึงวัดกุฎีดาว กระทั่งมีการบันทึกถึงการบูรณะวัดมเหยงคณ์ครั้งใหญ่โดยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พงศาวดารจึงบันทึกว่าหลังจากนั้นอีก 1 ปีสมเด็จพระอนุชา กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ได้เจริญรอยตามพระเชษฐาด้วยการบูรณะวัดกุฎีดาวที่อยู่ฝั่งตรงข้ามขึ้น โดยกระทำการบูรณปฏิสังขรณ์ถึง 3 ปี โดยพระองค์ท่านได้ประทับแรมอยู่ในวัดแห่งนั้นเพื่อคุมการก่อสร้าง

หลังจากนั้นวัดกุฎีดาวได้กลายเป็นวัดหลวง และเป็นที่พำนักของพระเทพมุนี พระราชาคณะในขณะนั้น ซึ่งต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ พระเทพมุนีวัดกุฎีดาวองค์นี้ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

วัดกุฎีดาวเป็นวัดเก่าแก่ที่เชื่อกันว่าสร้างขึ้นในสมัยอโยธยาศรีรามเทพนคร ซึ่งเป็นยุคก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยไม่ปรากฏว่าเป็นวัดที่พม่าเผาทำลายเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 หรือไม่ อย่างไรก็ดีกรมศิลปากรได้ประกาศให้วัดกุฎีดาวเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติในปี พ.ศ. 2478

            สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

  1. เจดีย์ประธาน

เจดีย์ประธานของวัด แม้จะหักพังไปบ้าง แต่ก็ยังพอมองเห็นว่าเป็นเจดีย์ทรงระฆัง บนฐานประทักษิณย่อมุมไม้ 20 มีเจดีย์ประจำทิศเป็นเจดีย์ทรงระฆัง 8 องค์ กรมศิลปากรได้เข้าไปขุดแต่งเจดีย์ประธานและพบว่าเจดีย์ถูกบูรณะมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง

  1. วิหาร

ด้านหลังเจดีย์ประธานคือวิหารวัดกุฎีดาว วิหารหลังนี้ค่อนข้างสมบูรณ์ มีตัวอาคารและเสาที่เห็นลวดลายของบัวหัวเสาได้อย่างชัดเจน โดยอาคารเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านข้างเป็นเส้นโค้งหย่อนท้องสำเภาซึ่งเป็นศิลปะอยุธยาตอนปลาย ซึ่งน่าจะเกิดจากการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ วิหารยังหลงเหลือความงดงามอยู่มาก จึงเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดชมเป็นอย่างยิ่ง

  1. พระตำหนักกำมะเลียน

ทิศเหนือของวัด นอกกำแพงแก้วมีพระตำหนักกำมะเลียน ซึ่งเป็นสถานที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศขณะที่ทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถาน ทรงประทับแรมที่นี่เพื่อควบคุมการบูรณปฏิสังขรณ์วัด พระตำหนักเป็นอาคารสองชั้น เจาะช่องหน้าต่างทั้งชั้นบนและชั้นล่าง เชื่อกันว่าหลังจากบูรณะวัดเสร็จ กรมพระราชวังบวรสถานในขณะนั้นได้ถวายพระตำหนักเป็นกุฏิเจ้าอาวาสหรือไม่ก็ศาลาการเปรียญ


Exit mobile version