วัดแม่นางปลื้ม


อัพเดตล่าสุดเมื่อ 21 กรกฎาคม 2567

 

วัดแม่นางปลื้มหนึ่งในสองเจดีย์ฐานสิงห์ล้อมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา งามพร้อมด้วยโบสถ์และวิหารที่ได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 สถานที่ประดิษฐานหลวงพ่อปลื้มและหลวงพ่อขาวพระพุทธรูปเก่าแก่ ศิลปะอยุธยาตอนต้น โดดเด่นด้วยซุ้มประตูโบราณที่เป็นเสมือนแลนด์มาร์กของวัด

ตามตำนานเล่าว่า แม่ปลื้มเป็นหญิงชรา ตั้งบ้านอยู่คนเดียวที่ริมน้ำ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพายเรือมาถึง ปรากฏว่าฝนตก จึงทรงขึ้นเรือนแม่ปลื้มขอหลบฝน แม่ปลื้มให้ที่พักกับพระองค์ท่าน แต่เพราะพระองค์ท่านทรงพูดจาเสียงดังตามแบบนักรบ แม่ปลื้มจึงบอกว่า “เวลานี้ค่ำแล้ว ลูกเอ๋ย อย่าส่งเสียงดัง จะระคายโสตพระเจ้าแผ่นดิน” สมเด็จพระเนรศวรมหาราชทรงเห็นในความจงรักภักดี เมื่อเสด็จกลับแล้ว จึงทรงรับแม่ปลื้มเข้าไปชุบเลี้ยงวัง บ้างว่าทรงยกฐานะให้เป็นพระมารดาบุญธรรม กระทั่งแม่ปลื้มสิ้นลม จึงทรงสร้างวัดแม่นางปลื้มขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่แม่ปลื้มนั่นเอง

สำหรับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แม้ไม่มีพงศาวดารจารึกไว้แน่ชัด แต่ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวถึง ประวัติศาสตร์ช่วงขุนวรวงศาธิราช ว่าวัดแม่นางปลื้มว่าเดิมเรียกว่าวัดท่าโขลง เพราะเป็นจุดที่โขลงช้างผ่าน ก่อนเข้าเพนียด

ในสมัยรัตนโกสินทร์ วัดแม่นางปลื้มได้รับการบูรณะ 3 ครั้งด้วยกัน คือ ในสมัยรัชกาลที่ 3 หนึ่งครั้ง และสมัยรัชกาลที่ 9 อีกสองครั้ง คือในปี พ.ศ. 2543 และ 2556 โดยกรมศิลปากร จากการขุดค้นของกรมศิลปากรพบว่าวัดสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น โดยขุดพบใบเสมาเดิมเป็นหินทราย

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

  1. เจดีย์ประธาน

เจดีย์ประธานวัดแม่นางปลื้มเป็นหนึ่งใน 2 วัดในอยุธยาที่มีลักษณะเด่น คือ มีสิงห์อยู่บนฐานล่างล้อมรอบเจดีย์ทรงระฆัง ศิลปะอยุธยาตอนต้นที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะลพบุรี จึงมีความเป็นไปได้ 2 กรณี คือ กรณีแนกเจดีย์สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น หรือไม่ก็อาจจะสร้างในสมัยอื่น เช่น ในสมัยสมเด็จพระเนรศวรตามตำนานแล้วได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองให้เป็นศิลปะลพบุรีตามแบบพระราชนิยม

เจดีย์ประธานวัดแม่นางปลื้มได้รีบการบูรณะจากกรมศิลปากรในปี พ.ศ. 2543 และ พ.ศ. 2556 ตามลำดับ

  1. วิหารหลวงพ่อขาว

ด้านหน้าของเจดีย์ประธาน คือ วิหารหลวงพ่อขาว สันนิษฐานว่าวิหารน่าจะได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากหน้าบรรณตกแต่งด้วยเครื่องถ้วยจันเป็นลายเครือเถา ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธนิมิตรมงคลศรีรัตนไตรหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘หลวงพ่อขาว’

หลวงพ่อขาวเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทำจากปูนเปลือกหอย พระวรกายจึงเป็นสีขาวตลอดทั้งองค์ มีเพียงพระเกศเท่ายั้นที่ทาสีดำ หลวงพ่อขาววัดแม่นางปลื้มมีพระพักตร์ที่คล้ายกับพระนอนวัดสามวิหารเป็นอย่างยิ่ง ตามประวัติหลวงพ่อขาวสร้างขึ้นใยปน พ.ศ. 1920 รัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือ ขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งเป็นยุคกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

วิหารแห่งนี้มีประตูตรงกลางที่มองตรงเข้าไปเห็นหลวงพ่อขาว ทางวัดได้จัดวางพระพุทธรูป อาทิ พระพุทธรูปปางยืนอุ้มบาตร ปางห้ามสมุทร และพระสังกัจจายน์ เอาไว้ให้สาธุชนกราบสักการะ ประตูกลางแห่งนี้แต่เดิมเป็นประตูสำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จผ่านเข้าออก ขุนนางและประชาชนธรรมดาไม่อาจเดินผ่านได้

วิหารและองค์หลวงพ่อขาวได้รับการบูรณะอีกครั้งในปี พ.ศ. 2543 โดยกรมศิลปากรพร้อมกับการบูรณะเจดีย์ประธาน

  1. โบสถ์

โบสถ์ของวัดแม่นางปลื้มเป็นโบสถ์ทรงสึ่เหลี่ยมผืนผ้า หน้าบรรณตกแต่งด้วยเครื่องถ้วย เช่นเดียวกับวิหาร ภายในประดิษฐานพระพุทธมหาปิติเทวะนฤมิตปฏิมากรณ์ พระประธานของโบสถ์ ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘หลวงพ่อปลื้ม’  โดยหลวงพ่อปลื้มนี้ เป็นพระพุทธรูปปางมรวิชัย ลงรักปิดทอง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในมัยอยุธยาตอนต้นหรือเก่าแก่กว่านั้น

  1. ซุ้มประตูวัด

ซุ้มประตูวัดนับเป็นจุดเด่นของวัดแม่นางปลื้ม เพราะนอกจากจะเป็นซุ้มโบราณแล้ว เมื่อมองตรงเข้าไปจะเห็นประตูกลางซึ่งมองเห็นองค์หลวงพ่อขาวพอดิบพอดี อีกทั้งยังเป็นเสมือนประตูสู่เขตโบราณสถาน ให้ความรู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ในยุคกรุงศรีอยุธยาจริงๆ จุดนี้จึงเป็นจุดที่หากนักท่องเที่ยวไม่ถ่ายรูปกลับไปเป็นที่ระลึก แทบจะเรียกได้ว่ามาไม่ถึงวัดแม่นางปลื้มเลยทีเดียว


Exit mobile version