วัดมเหยงคณ์


อัพเดตล่าสุดเมื่อ 21 กรกฎาคม 2567

 

วัดมเหยงคณ์: ในส่วนโบราณสถาน โดดเด่นด้วยโบสถ์เก่าที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดและเจดีย์ช้างล้อมหนึ่งในสามของประเทศไทย ในส่วนวัดใหม่เป็นที่ประดิษฐานพระนอนสกัดจากหินขาวงามพร้อมสะอาดตา และ ‘พระสัพพัญญูปฐมเทศนา’ พระปางปฐมเทศนาศิลปะคุปตะที่หาชมที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว นอกจากที่นี่และที่สารนาถ ในประเทศอินเดีย

คำว่ามเหยงคณ์สันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึง ‘มหิยังคณ์เจดีย์’ ซึ่งเป็นชื่อเจดีย์ในประเทศศรีลังกา ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ โดยคำว่ามหิยังคณ์โดยรากศัพท์แล้วแปลว่าภูเขานั่นเอง

ในพงศาวดารเหนือบันทึกว่าพระมเหสีในพระยาธรรมิกราชเป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์ ส่วนคำให้การขุนหลวงหาวัดกล่าวว่าพระภูมินทราธิบดีทรงสร้างขึ้น แต่ที่น่าเชื่อถือมากที่สุดคือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เพราะแทบทุกฉบับบันทึกไว้ตรงกันว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยาทรงเป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์ขึ้นในปี พ.ศ. 1981 กระทั่งพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระโปรดให้มีการบูรณะในปีฉลู เอกศก (พ.ศ. 2252) ซึ่งเป็นการบูรณะใหญ่ร่วม 3 ปีจึงเสร็จ (พ.ศ. 2556)

หลังจากเสียกรุงครั้งที่ 2 วัดมเหยงค์ถูกทิ้งร้าง ต่อมากรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานของชาติในปี พ.ศ. 2484 จากนั้นในปี พ.ศ. 2527 พระครูเกษมธรรมทัต (ปัจจุบัน คือ พระภาวนาเขมคุณ วิ.) ได้ธุดงค์มาพบ ทราบเพียงว่าเป็นวัดโบราณรกร้าง ท่านจึงรวบรวมพระสงฆ์แผ้วถางและจัดตั้งสำนักปฏิบัติกรรมฐานวัดมเหยงคณ์ขึ้นรอบนอกโบราณสถาน โดยซื้อที่ดินเอกชนเพิ่มอีก 110 ไร่ 2 งาน 58 ตารางวา

ท้ายที่สุดในปี 2534 วัดมเหยคณ์ส่วนโบราณสถานได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก และในปี พ.ศ. 2544 มหาเถระสมาคมเห็นชอบให้จัดตั้งวัดฝ่ายอรัญวาสี (วัดป่า) ภายใต้ชื่อเดิมว่า ‘วัดมเหยงคณ์’ ขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

  1. เจดีย์ประธาน

เจดีย์ประธานวัดมเหยงคณ์เป็นเจดีย์ทรงระฆังหรือทรงลังกาแบบอยุธยา อยู่บนฐานเขียงทรงกลม 3 มีช้างล้อม 80 เชือกรอบฐานประทักษิณ โดยช้างโผล่ออกมาครึ่งตัวจากซุ้มจระนำ โดยช้างแต่ละหัวมีความแตกต่างกัน น่าจะใช้ช่าง 1 คนทำ 1 หัว ไม่ซ้ำกันตลอด 80 หัว ช้างล้อมเจดีย์แบบนี้พบได้ในอีกสองที่ของประเทศไทย คือ ที่ศรีสัชนาลัยและสุโขทัย เชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์ชัยในศรีลังกา โดยช้างรอบฐานแสดงถึงช้างฤณฑลราชพาหนะของพระเจ้าทุษฐาคามินีมหาราชที่ชนะศึกสงคราม

  1. โบสถ์

โบสถ์วัดมเหยงค์เป็นโบสถ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาโบสถ์เก่าใน จ. พระนครศรีอยุธยา มี 9 ห้อง องค์อุโบสถทั้งหลังมีขนาด 17×35 เมตร ยังคงมีผนังโบสถ์ หน้าต่าง หน้าบรรณให้เห็น ภายในมี 2 ฐานชุกชี เชื่อว่าเคยมีพระพุทธรูปอยู่ในโบสถ์ถึง 2 องค์ โบสถ์วัดมเหยงคณ์ได้รับการบูรณะจนแข็งแรง นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมภายในได้อย่างปลอดภัย

  1. ท้องฉวน

ทางเข้าวัดส่วนโบราณสถานในปัจจุบันคือด้านหลังของวัด มีท้องฉนวนที่ยังสมบูรณ์ดีให้นักท่องเที่ยวไก้เข้าไปเดินและเก็บภาพความประทับใจ โดยท้องฉนวนก็คือทางเดินที่สองข้างมีกำแพงกั้นสำหรับเจ้านายและข้าราชบริพารฝ่ายใน การที่คนๆ หนึ่งจะมีโอกาสเดินในท้องฉนวนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย หากไปถึงต้องลองเดินดูสักครั้ง

  1. อาคารพระนอน

อาคารพระนอนอยู่ในส่วนของวัดที่สร้างขึ้นใหม่ ภายในประดิษฐาน ‘พระบรมศาสดามหาปรินิพพาน’ เป็นพระพุทธรูปปางปรินิพพาน พุทธลักษณะอยู่ในอากัปกิริยาสีหไสยาสน์ (ตะแตงขวา) พระพาหาขวาทอดไปกับกระเขนย แสดงพุทธประวัติช่วงที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธรูปดังกล่าวทำจากหินสีขาว โดยใช้เทคนิคการแกะสลักหินก้อนเดียวเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ โดยไม่มีกรต่อหินก้อนอื่นๆ แต่ประการใด ส่งผลให้พระบรมศาสดามหาปรินิพพานเป็นพระนอนหินขาวองค์เดียวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมีความงดงามแปลกตาเป็นอย่างยิ่ง

  1. ศาลาถ้ำ กราบพระศิลปะคุปตะ

ศาลาที่สร้างขึ้นมาให้ดูเหมือนถ้ำ เป็นสถานที่สำหรับทำวัตรสวดมนต์เมื่อมีงานเทศกาล เป็นที่ฉันเช้าของพระสงฆ์และเป็นที่นั่งสมาธิ เดินจงกรมของอุบาสกอุบาสิกาในวันเสาร์อาทิตย์ ศาลาดังกล่าวเป็นที่ประดิษฐาน ‘พระสัพพัญญูปฐมเทศนา’ พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ด้วยศิลปะคล้ายศิลปะคุปตะ ที่สารนาถ พุทธสังเวชนียสถาน ในประเทศอินเดีย จึงนับเป็นพระพุทธรูปที่ หากมีโอกาสควรไปกราบสักการะสักครั้งหนึ่ง