วัดพระงาม คลองบางเดื่อ


อัพเดตล่าสุดเมื่อ 21 กรกฎาคม 2567

 

วัดพระงาม วัดมอญดั้งเดิม สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง โดดเด่นด้วยจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถโบราณ และภาพวาดฝาผนังในมณฑปสมัยรัตนโกสินทร์ที่เชื่อว่าวาดโดยขรัวอิน สุดยอดจิตกรในสมณเพศ กราบพระพุทธรูปโบราณและชมเจดีย์ที่มีก้านฉัตรไม่เหมือนที่ใดในอยุธยา

วัดพระงามสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2122 สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วัดได้กลายเป็นวัดร้าง กระทั่งได้รับการบูรณะใหม่อีกครั้งในสมัยกรุงธนบุรีและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2401

เชื่อกันว่าวัดพระงามแห่งนี้แต่เดิมเป็นวัดมอญ เพราะนอกจากจะอยู่ในชุมชนมอญแล้ว ยังมีเสาหงส์อยู่หน้าวัด โดยเสาหงส์ก็คือเสาสูงที่มีรูปหงส์อยู่ปลายเสา เนื่องจากแต่ชาวสะเทิม (ชาวมอญดั้งเดิม) เป็นกลุ่มชนที่ตั้งกรุงหงสาวดีขึ้น ตำนานเล่าว่าหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ได้ 8 ปีทรงเสด็จมายังที่รกร้างหางหนึ่งเห็นหงส์เล่นน้ำอยู่จึงทรงทำนายว่าตรงนี้จะกลายเป็นเมืองชื่อหงสาวดี ชาวสะเทิมจึงถือว่าหงส์เป็นสัญลักษณ์ของกรุงหงสาวดี เมื่อกรุงหงสาวดีถูกพระเจ้าอลองพญาตีแตก จนมอญต้องสิ้นชาติ ชาวมอญที่หนีมาอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน รวมตัวกันเป็นชุมชนได้ที่ใดก็จะตั้งเสาหงส์ขึ้น

นอกจากเสาหงส์แล้ว วัดพระงามยังมีช้างเอราวัณกระจายอยู่ในวัด ซึ่งโดยปกติแล้วหากเป็นวัดไทยโดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ตอนกลาง จะไม่สร้างช้างเอราวัณไว้ในวัด มีแต่วัดมอญเท่านั้นที่สร้าง อีกทั้งยังมีเรื่องเล่าต่อกันมาว่าพระสมุห์พ่วง เจ้าอาวาสองค์แรกของวัด มักเดินทางไปธุดงค์ที่พม่าทุกปี กระทั่งมรณภาพที่พม่า ด้วยเหตุนี้จึงสันนิษฐานได้ว่าวัดพระงามเป็นวัดมอญและมีความเกี่ยวข้องแน่นแฟ้นกับชาวรามัญมาแต่เดิม

            สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

  1. โบสถ์ โบสถ์ของวัดพระงามสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลาย ภายในโบสถ์มีสิ่งที่นักท่องเที่ยวจะพลาดชมและกราบสักการะไม่ได้ คือ
    • จิตรกรรมฝาผนัง

ภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดมีลักษณะเป็นภาพแบน วัตถุใกล้และไกลไม่มีความแตกต่างทางมิติ ซึ่งเป็นลักษณะของภาพวาดสมัยอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลาย ภาพวาดส่วนใหญ่เป็นพระพุทธเจ้าขณะกำลังทอดพระองค์ในลักษณะสีหไสยาสน์ ผนังด้านหนึ่งแสดงพุทธประวัติช่วงโปรดอสุรินทราหู และพุทธประวัติช่วงปรินิพพาน ส่วนอีกด้านเป็นพระสาวกนั่งและยืนพิจารณาสังขาร โครงกระดูก และศพ

  • พระพุทธรูปโบราณ

พระประธานของโบสถ์เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง มีพระพุทธรูปสมัยอยุธยา 11 องค์และสมัยรัตนโกสินทร์อีก 5 องค์ รายล้อมพระประธาน พระพุทธรูปเหล่านี้มีอยู่ด้วยกันมากมายหลายปาง อาทิ ปางรำพึง ปางห้ามญาติ ปางมารวิชัย ปานาคปรก ปางสมาธิ และพระสาวก เช่น พระโมคคัลลา พระสารีบุตรอีกด้วย

  1. เจดีย์ เจดีย์ข้างพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงระฆัง บนฐานแปดเหลี่ยม ซึ่งฐานแปดเหลี่ยมนี้นิยมมากในช่วงอยุธยาตอนต้นถึงตอนกลาง จุดเด่นของเจดีย์องค์นี้ คือ ก้านฉัตร ซึ่งปกติแล้วในสมัยอยุธยา ก้านฉัตรมักมีลักษณะเป็นเสารองรับบัวฝาละมี ใต้เสาก้านฉัตรจะเป็นบัลลังก์ ทว่าเจดีย์แห่งนี้ก้านฉัตรติดกับเรือนธาตุไม่มีบัลลังก์ เจดีย์อยู่ในลักษณะครบถ้วยสมบูรณ์ตั้งแต่หยาดน้ำค้างถึงฐานเชียง
  2. มณฑป มณฑปแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ลักษณะภายนอกคล้ายศิลปะสมัยเดียวกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (กรุงเทพ) มีลักษณะผสมผสานระหว่างศิลปะไทย จีน และตะวันตก ภายในมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองที่มีความศักดิสิทธิ์มาก หากไม่ได้สักการะถือว่ามาไม่ถึง ด้านในของมณฑปมีจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือมีภาพวาดฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเล่าเรื่องราวของพระเจ้าพิมพิสาร เชื่อว่าเป็นจิตรกรรมฝีมือขรัวอินโข่ง จิตกรในสมณเพศคนแรกของไทยที่ใช้เทคนิคการวาดภาพฝาผนังแบบปริมาตรใกล้ไกล กล่าวคือ วัตถุที่อยู่ใกล้จะใหญ่และคมชัด วัตถุที่อยู่ไกลจะเล็กและเลือนกว่า