ประตูกาลเวลา ณ วัดพระงาม คลองสระบัว


อัพเดตล่าสุดเมื่อ 21 กรกฎาคม 2567

 

วัดพระงาม วัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีพร้อมร่องรอยการบูรณะในช่วงอยุธยาตอนต้นถึงตอนกลาง พบกับเจดีย์ประธานที่ได้รับการบูรณะจากช่างฝีมือดีจนมีรูปร่างคงเดิม ชมใบเสมาหินชนวนโบราณ และถ่ายรูปกับประตูกาลเวลา ซุ้มประตูปรกโพธิ์ที่ทำให้วัดพระงามโดดเด่นกว่าวัดใดๆ

วัดพระงาม ริมคลองสระบัวแห่งนี้ แต่เดิมมีชื่อว่าวัดชะราม แต่จะมีความเป็นมาเป็นไปอย่างไรไม่มีใครทราบ ได้แต่สันนิษฐานเอาจากสิ่งต่างๆ ภายในวัด ดังนี้

  1. ผังวัด ผังวัดเป็นแบบอยุธยาตอนต้น กล่าวคือ วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีน้ำล้อมรอบเพื่อบอกเขตวัด การขุดคูคลองใช้น้ำล้อมรอบวัดนี้ ได้รับอิทธิพลจากขอม ผ่านทางศิลปะลพบุรี เนื่องจากศาสตร์การจัดสถานที่ที่ขอมรับมาจากอินเดียเชื่อว่าเจดีย์ ปรางค์ หรือปราสาท เป็นธาตุดิน จำเป็นต้องมีสระน้ำหรือคูคลอง เพื่อสร้างสมดุลธาตุให้กับสถานที่
  2. เจดีย์ ลักษณะของเจดีย์คล้ายดัดแปลงมาจากวิหาร เพราะฐานชั้นล่างสุดของเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยม องค์เจดีย์เป็นแบบที่นิยมในอยุธยาตอนต้นเรื่อยมาจนถึงตอนกลาง ก่อนปี พ.ศ. 2112 องค์เจดีย์มีร่องรอยการบูรณะด้วยการโบกปูนพอกทับ
  3. โบสถ์ โบสถ์เป็นยกพื้นและมีฐานรอบเสา น่าจะสร้างครอบทับโบสถ์เดิม หลังจากที่กรมศิลปากรเข้ามาทำการขุดค้น ได้พบเศษซากของโบสถ์เดิม เช่น เศษกระเบื้องดินเผา ตะปูจีน ปูนปั้นรูปนาค เทพนม และเทวดา อีกทั้งยังพบหน้าตกของพระประธาน สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสำริดปางสมาธิ จากส่วนของพระชงฆ์ (แข้ง) สันนิษฐานได้ว่าเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ แต่เพราะเหลือเพียงหน้าตักจึงไม่ทราบแน่ว่าทรงเครื่องใหญ่หรือเครื่องน้อย นอกจากนี้ยังพบเครื่องสังคโลกจากแหล่งต่างๆ เช่น จากเตาศรีสัชนาลัย เตาสุโขทัย เตาบ้านบางปูน รวมถึงเครื่องสังคโลกจีนสมัยราชวงศ์หมิง

สิ่งเหล่านี้ทำให้พอจะสันนิษฐานได้ว่าวัดพระงามหรือวัดชะรามแห่งนี้ มีมาตั้งแต่สมัยอโยธยาศรีรามเทพนคร (ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา) แต่ได้รับการบูรณะใหม่ในช่วงอยุธยาตอนต้นถึงตอนกลาง

ปัจจุบันวัดพระงามอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร และเนื่องจากในอำเภอบางปะหันมีวัดพระงามสองวัด คือวัดพระงามคลองสระบัวแห่งนี้และวัดพระงามเรียบคลองบางเดื่อซึ่งมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ ผู้คนจึงเรียกที่นี่ว่า วัดพระงาม (ร้าง) หรือไม่ก็วัดพระงาม (ประตูกาลเวลา) ส่วนอีกวัดหนึ่งเรียกว่าวัดพระงามเฉยๆ

            สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

  1. ประตูกาลเวลา บริเวณซุ้มประตูเข้าวัด เป็นจุดที่ถ้านักท่องเที่ยวไม่ได้แวะถ่ายรูป เรียกว่ามาไม่ถึงวัดพระงาม ซุ้มประตูแห่งนี้มีรากต้นโพธิขึ้นปรกคลุม ช่วยพยุงให้ซุ้มยังคงตั้งอยู่ได้ เมื่อมองรอดซุ้มเข้าไปจะเห็นเจดีย์ประธานพอดิบพอดี เวลาที่ดีที่สุดที่จะถ่ายรูปบริเวณนี้คือประมาณ 18.00-18.30 น. เนื่องจากแสงอาทิตย์ยามเย็นจะส่องรอดช่องประตูเข้ามาให้บรรยากาศสวยงามเหมาะแก่การบันทึกภาพเป็นอย่างยิ่ง
  2. เจดีย์ประธาน เจดีย์ประธานทรงระฆังเรียว อยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ องค์เจดีย์อยู่บนฐานแปดเหลี่ยม ส่วนฐานที่ติดกับพื้นดินเป็นสี่เหลี่ยม ทำให้นักวิชาการสันนิษฐานว่าดัดแปลงมาจากวิหารเดิม ความสมบูรณ์ของเจดีย์ทำให้นักท่องเที่ยวหลายคนคิดว่ากรมศิลปากรได้บูรณะเจดีย์เมื่อไม่นานมานี้ แต่ความจริงแล้วเจดีย์ได้รับการบูรณะจากใครไม่ปรากฏ ก่อนหน้าที่กรมศิลปากรจะเข้ามาขุดค้น โดยการบูรณะเจดีย์นี้น่าจะกระทำโดยช่างฝีมือดี เพราะไม่ทำให้รูปแบบของเจดีย์เดิมเปลี่ยนแปลงไป
  3. เสมา ฐานอิฐที่เห็นภายในวัด สำหรับฐานที่ล้อมรอบโบสถ์และอยู่ใกล้โบสถ์มากที่สุดคือฐานใบเสมา ส่วนฐานที่อยู่รอบนอกของโบสถ์ (รอบวัด) คือฐานเจดีย์ราย เสมาที่อยู่บนฐานเหล่านี้เรียกว่า ‘เสมานั่งแท่น’ นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย ใบเสมาที่วางอยู่บนฐานรอบโบสถ์แม้ชำรุดทรุดโทรมแต่เห็นได้ชัดว่าเป็นเสมาหินชนวนเรียบ ปิดทองคำเปลว มีความหนาและไม่สูงมาก จึงเป็นไปได้ว่าเสมาดังกล่าวสร้างขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เพราะในสมัยอู่ทองก็มีการสลักลวดลายลงบนเสมาและใช้หินทรายแทนหินชนวนแล้ว

Exit mobile version