วัดพระพุทธบาท


อัพเดตล่าสุดเมื่อ 21 กรกฎาคม 2567

 

วัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรี มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในเรื่องการไปสักการะรอยพระพุทธบาทที่มีประวัติศาสตร์เล่าสืบต่อกันมา อีกทั้งงานตักบาตรดอกไม้ที่จัดเป็นงานประจำปีที่พุทธศาสนิกชนจากทั่วประเทศต่างจดจ้องว่าต้องได้ไปสักครั้งหนึ่งในชีวิต

ถ้าไปเที่ยวสระบุรีแล้วไม่แวะไปวัดพระพุทธบาทคงต้องกลับไปใหม่ เพราะที่นี่เป็นวัดสำคัญที่ชาวพุทธน่าจะได้ไป สำหรับความงดงามของธรรมชาติที่นี่ สร้างความร่มเย็นให้จิตใจเพียงแค่เห็น

สถาปัตยกรรมเชิงพุทธก็ช่วยจรรโลงจิตให้เกิดศรัทธา ทั้งตัวมณฑปพระพุทธบาท จากเชิงบันไดพญานาค 5 เศียรสีทองอร่ามที่เลื้อยลำตัวไปตามราวบันไดที่เป็นสีขาว นำสายตาไปสู่มณฑปสีทองอร่าม ลวดลายศิลปะแบบไทย บันไดทางขึ้นแบ่งเป็นสามช่อง ความสูงของบันไดนั้นไม่ได้มาก แต่ก็เป็นเส้นนำสายตาที่ส่งให้มณฑปด้านบนเนินเขาดูงดงามสูงส่ง ยิ่งยามมีแสงตกกระทบตัดกับขอบฟ้าสีน้ำเงิน

50 ขั้นของบันไดทางขึ้น นับว่าไม่ได้มาก เดินเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ถึง เมื่อขึ้นไปชมใกล้ๆ จะเห็นความวิจิตร ละเอียดประณีตของสถาปัตยกรรม งดงามมาก

รอยพระพุทธบาท เป็นสิ่งคู่กับวัดแห่งนี้ ตามประวัตินั้นมีมาแต่โบราณกาลคือตั้งแต่ครั้งพระเจ้าทรงธรรมครองราชย์ในสมัยอยุธยาเป็นราชธานี ราวปีพุทธศักราชสองพันหนึ่งร้อยหกสิบเจ็ด คือ  มากกว่า 350 ปีที่ผ่านมา มีการค้นพบรอยพระพุทธบาทขนาด 21*60*11 นิ้วบนแผ่นดินเขาสุวรรณบรรพต ซึ่งถูกตามลักษณะมงคล 108 ประการตามที่ระบุไว้ในคัมภีร์ชินาลังการ จึงเริ่มต้นดำริให้ก่อสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทที่มีการค้นพบนี้ไว้ และมีการพัฒนะให้เป็นมณฑปที่ถาวรและงดงามเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ความงามวิจิตรปรากฏแก่ตาของผู้ไปนมัสการรอยพระพุทธบาท ไม่ว่าจะเป็นปราสาท 7 ชั้น เสามุมไม้ 12 พุ่มข้าวบิณฑ์ ทุกอย่างมีความประณีต แสดงถึงความเคารพสักการะสูงสุด พุทธศาสนิกชนต่างเวียนไปสักการะสม่ำเสมอ

สถูปจำลอง สถานที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวิหารคลังบน ซึ่งเป็นอาคารแสดงให้เห็นศิลปะของจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวสำคัญของพระสงฆ์ รวมถึงประวัติของพระเกจิอาจารย์องค์สำคัญอย่างสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุทธสรมหาเถระ) ที่เคยเป็นองค์ประธานในการบูรณะวัดพระพุทธบาทเมื่อปีพุทธศักราช 2497 ด้วย

ความสำคัญของพระเขี้ยวแก้วนั้น ตามความเชื่อก็คือ หากได้กราบไหว้บูชาจะส่งผลให้ร่มเย็นเป็นสุข ดังนั้นที่นี่จึงมีประเพณีแห่พระเขี้ยวแก้วไปทั่วเขตเทศบาลในวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี

“มกุฏพันธนเจดีย์” ตามป้ายที่สลักไว้เป็นหลักฐานว่า เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้อัญเชิญมาไว้ ณ เจดีย์แห่งนี้ในปีพุทธศักราช 2403 ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ชื่อของพระเจดีย์แห่งนี้ตั้งขึ้นตามชื่อของสถานที่ซึ่งเป็นที่ถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธองค์

            พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธบาท มีชื่อเรียกอื่นๆ คือ วิหารหลวงบ้าง พระวิหาร 16 ห้องบ้าง จัดแสดงของเก่าที่มีคุณค่าควรรักษาเพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ชม ศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องทรงสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม อาวุธโบราณ พัดยศทุกยุคสมัย เครื่องทองสำริดเก่า เป็นต้น และมีท่อประปาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ด้วย ที่นี่ไม่ได้ให้ชมทุกวัน เฉพาะช่วงเวลาพิเศษที่กำหนดเท่านั้นคือ ปีละ 2 ช่วง ช่วงแรกตั้งแต่วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 – วันแรม 1 ค่ำ และอีกช่วงหนึ่งตั้งแต่วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 4 – วันแรม 1 ค่ำ

ตักบาตรดอกไม้ เป็นอีกหนึ่งประเพณีสำคัญของวัดพระพุทธบาทที่นับว่าเป็น มรดกทางวัฒนธรรม ที่กล่าวได้ว่า เป็นที่เดียวในประเทศไทยที่มีการตักบาตรดอกไม้ และดอกไม้ที่ใช้ก็คือ “ดอกเข้าพรรษา” ซึ่งมีหลายสีสวยงาม แต่ที่นิยมใช้คือสีขาว,สีเหลืองและสีม่วง เป็นต้น ประเพณีนี้จะจัดขึ้นทุกๆ ปี ในวันเข้าพรรษาตามปีปฏิทิน นับเป็นบุญพิเศษของที่นี่ พระสงฆ์จะเดินลงมาตามบันได โปรดญาติโยมที่รอตักบาตรอยู่ด้านล่าง เป็นภาพที่งดงามและรวมศรัทธาของชาวพุทธจากทั่วประเทศ

ดอกเข้าพรรษา ก็คือดอกหงส์เหินนั่นเอง จากดอกไม้ป่า เมื่อได้รับความนิยมก็ถูกนำมาปลูกเป็นฟาร์มในจังหวัดสระบุรี เป็นดอกไม้ที่ออกตามฤดูกาลปีละครั้งเท่านั้น ปลูกเดือนพ.ค. ออกดอกเดือนก.ค. ใช้ตักบาตรพอดี นับเป็นดอกไม้เศรษฐกิจชนิดหนึ่งของจังหวัด

สำหรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวพุทธ ต้องไม่พลาดที่จะไปสักการะรอยพระพุทธบาท และหาโอกาสไปตักบาตรดอกเข้าพรรษาสักครั้ง

ที่ตั้ง

บ้านพระพุทธบาท หมู่ 8 ตำบลขุนโขลน อำเภอ พระพุทธบาท สระบุรี 18120