วัดภูเขาทอง


อัพเดตล่าสุดเมื่อ 21 กรกฎาคม 2567

 

            วัดภูเขาทอง: เจดีย์ที่สูงที่สุดนอกเกาะเมืองและเป็นเจดีย์เดียวที่องค์เจดีย์เป็นทรงไทยบนฐานแบบพม่า ที่สมเด็จพระเนรศวรมหาราชทรงสร้างขึ้นเพื่อแสดงถึงการมีชัยเหนือพุกามประเทศ เยี่ยมชมรอยพญานาคในหอสวดมนต์และพบกับความยิ่งใหญ่อลังการของพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเนรศวรมหาราช

            วัดภูเขาทองสถาปนาขึ้นในสมัยสมเด็จพระราเมศวร เมื่อปี พ.ศ. 1930 หลังจากเสียกรุงครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2112 พระเจ้าบุเรงนองโปรดให้สร้างเจดีย์ใหญ่วัดภูเขาทองเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ บางตำนานว่าสร้างได้แค่ฐานเท่านั้น พระเนรศวรจึงต่อเติมองค์เจดีย์จนเสร็จ บางตำนานว่าสร้างเต็มองค์ แต่สมเด็จพระเนรศวรทรงสร้างองค์เจดีย์แบบไทยบนฐานแบบพม่าเพื่อเป็นการประกาศชัยชนะเหนือพม่า นั่นทำให้เจดีย์วัดภูเขาทองจึงเป็นเจดีย์เดียวในอยุธยาที่มีลักษณะผสมผสานแบบนี้

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองมีการสร้างเจดีย์รายเพิ่มเติม ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดฯ ให้บูรณะเจดีย์ประธานและส่วนอื่นๆ ของวัด เชื่อกันว่าลักษณะของเจดีย์ประธานในปัจจุบันนี้เกิดจากการบูรณะในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เนื่องจากเจดีย์เพิ่มมุมนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่งในสมัยนั้น

หลังจากเสียกรุงครั้งที่ 2 วัดภูเขาทองกลายเป็นวัดร้าง ภายในวัดประกอบไปด้วยซากกำแพงแก้ว วิหารเล็ก อุโบสถใหญ่ลายปูนปั้น เจดีย์ราย เจดีย์เล็กหน้าโบสถ์ 4 องค์ และพระเจดีย์ใหญ่ซึ่งเป็นปูชนียสถานสำคัญที่สุดของวัด โดยเจดีย์วัดภูเขาทองยังคงเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของสาธุชนเรื่อยมา

กรมศิลปากรได้ประกาศให้วัดภูเขาทองเป็นโบราณสถานแห่งชาติในปี พ.ศ. 2478 ทว่าเจดีย์ประธานวัดภูเขาทองได้พังทลายลงไปในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี พ.ศ. 2499 โดยหุ้มปลียอดด้วยทองคำ 2,500 กรัม  เพื่อฉลองพุทธกาลครบ 2500 ปี และวัดภูเขาทองก็กลายเป็นวัดที่มีพระจำพรรษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา

            สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

  1. เจดีย์วัดภูเขาทอง

เจดีย์วัดภูเขาทองมีความสูง 90 เมตร นับเป็นเจดีย์นอกเกาะเมืองที่สูงที่สุด โดยในเกาะเมือง เจดีย์วัดไชยวัฒนารามสูงที่สุด โดยสูงกว่าเจดีย์วัดภูเขาทองเพียง 2 เมตรเท่านั้น เจดีย์วัดภูเขาทองเป็นเจดีย์เดียวในอยุธยาที่องค์เจดีย์เป็นศิลปะแบบไทยบนฐานศิลปะแบบพม่า ภายในองค์เจดีย์รกรมศิลปากรได้บูรณะจนมีความแข็งแรง นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปชมวิวจากด้านบนของเจดีย์ และสามารถเข้าไปสักการะพระพุทธรูปภายในเจดีย์ได้

  1. รอยพญานาค

รอยพญานาคเป็นร่องรอยยาวคล้ายงูใหญ่เลื้อยผ่าน อยู่ที่หอสวดมนต์ของวัด รอยแรกปรากฏบนประตูและพื้นหน้าประตู รอยที่สองปรากฏบนผนังห้องด้านใน ทางวัดได้นำกระจกใสมาวางปิดไว้ป้องกันไม่ให้ผู้เยี่ยมชมบังเอิญสัมผัสกับรอยจนลบเลือน หลังจากเที่ยวชมรอยพญานาคแล้ว ในหอสวดมนต์ยังมีพระพุทธรูปปางนาคปรกและรูปเคารพพ่อปูพญานาคให้สาธุชนได้สักการะอีกด้วย

  1. พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเนรศวรมหาราช

ด้านหน้าของวัด ห่างจากเจดีย์ใหญ่ไปประมาณ 900 เมตร มีพระบรมราชานุสาวรีย์พระเนรศวรมหาราชอยู่ โดยพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2538 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50  ปี พระบรมราชานุสาวรีย์ออกแบบโดยกรมโยธาและผังเมือง แสดงพระราชประวัติตอนที่สมเด็จพระเนรศวรมหาราชทรงม้าออกสังหาร ‘ลักไวทำมู’ ทหารเอกพระเจ้าองสาวดี มุมทั้ง 4 ประดับด้วยเครื่องราชูปโภคสำคัญ ได้แก่ พระแสงปืนข้ามแม้น้ำสะโตง พระแสงดาบคาบค่าย พระมาลาเบี่ยง และพระแสงของ้าวที่ปลิดชีพพระมหาอุปราชในการกระทำยุทธหัตถี ฐานโดยรอบสลักภาพนูนต่ำเล่าพระราชประวัติสมเด็จพระเนรศวรมหาราช โดยภาพนูนต่ำเหล่านี้ออกแบบโดยคุณไข่มุก ชูโต ปติมากรประจำสำนักพระราชวัง