วัดประดู่ทรงธรรม


อัพเดตล่าสุดเมื่อ 21 กรกฎาคม 2567

 

วัดประดู่ทรงธรรม วัดที่ปรากฏในประวัติศาสตร์อยุธยาบ่อยครั้ง ทั้งในสมัยพระเจ้าทรงธรรมและพระเจ้าอุทุมพร ได้รับการบูรณะโดยพระยาโบราณราชธานินทร์จนอยู่ในสภาพดี ครบถ้วยด้วยศิลปะแบบอยุธยา พร้อมให้นักท่องเที่ยวกราบสักการะเจดีย์พระบรมธาตุ และชมภาพวาดฝาผนังลักษณะเดียวกับวิหารวัดยมที่ถูกรื้อถอนไปแล้ว

วัดแห่งนี้ที่จริงแล้วคือวัดประดู่และวัดโรงธรรม แม้จะไม่ปรากฏว่าวัดประดู่และวัดโรงธรรมสร้างขึ้นในสมัยใด แต่มีตำนานเล่าถึงการสร้างวัดประดู่โรงธรรมว่าแต่เดิมหลวงพ่อรอด (เสือ) บวชเป็นเณรอยู่วัดประดู่ ต่อมาอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 หลวงพ่อท่านจึงต้องอพยพจากวัดประดู่ย้ายมาอยู่ที่วัดระฆัง (วัดระฆังโฆษิตารามในปัจจุบัน เดิมชื่อวัดบางหว้าใหญ่ สร้างในสมัยอยุธยา) หลังจากที่บ้านเมืองสงบแล้ว จึงพายเรือจากวัดระฆังกลับมาที่พระนครศรีอยุธยาและจอดเรือที่วัดนางชี (วัดร้างหน้าวัดประดู่) จากนั้นได้บูรณะวัดประดู่และวัดโรงธรรมซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้าง รวมกลายเป็นวัดเดียว เรียกว่า ‘วัดประดู่โรงธรรม’

อย่างไรก็ดีในพระราชพงศาวดาร ปรากฏว่าในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมก็มีวัดประดู่โรงธรรมอยู่แล้ว โดยพระราชพงศาวดารกล่าวถึงเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2163 ที่ชาวญี่ปุ่นยกคน 400 คนเข้ามาจะคุมตัวพระเจ้าทรงธรรม ขณะนั้นพระเจ้าทรงธรรมทรง เณรและภิกษุวัดประดู่โรงธรรม 8 องค์ได้ช่วยพาพรเจ้าทรงธรรมออกมาจากพระที่นั่งได้สำเร็จ พระเจ้าทรงธรรมจึงโปรดให้วิเสทแต่งกัปปิยะจังหันถวาย

นอกจากนี้เมื่อครั้งสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์เสด็จเข้าพระที่นั่งจนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรต้องถวายราชบัลลังก์แล้ว สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรได้ออกผนวช โดยจดหมายเหตุตุรแปงบันทุกว่าทรงผนวชที่วัดอโยธยาแต่มาจำพรรษาที่วัดประดู่โรงธรรม กระทั่งข้าราชการกราบบังคมทูลให้ลาผนวชออกมาสู้ศึกพระเจ้าอลองพญา เมื่อพม่าเลิกทัพ เจ้าฟ้าอุทุมพรในขณะนั้นได้ออกผนวชอีกครั้งที่วัดโพธิ์ทองหยาด จังหวัดอ่างทอง และกลับมาประจำที่วัดประดู่โรงธรรมเช่นเดิม กระทั่งเสียกรุงครั้งที่ 2

แม้หลายกระแสจะเชื่อว่าชื่อวัดประดู่มาจากพระนามเดิมของเจ้าฟ้าอุทุมพรว่า เจ้าฟ้าประดู่ แต่ในพระราชพงศาวดารบันทึกว่าแท้ที่จริงแล้วเจ้าฟ้าอุทุมพร เดิมทรงพระนามว่าเจ้าฟ้าดอกเดื่อ ไม่ใช่เจ้าฟ้าประดู่ ในแผนที่อยุธยาฉบับพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) กล่าวถึงวัดประดู่โรงธรรมว่าชื่อวัดประดู่มาจากการที่มีต้นประดู่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก

ในสมัยรัชกาลที่ 4 วัดแห่งนี้ยังชื่อว่าวัดประดู่โรงธรรมกระทั่งมาเปลี่ยนเป็นวัดประดู่ทรงธรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 วัดประดู่โรงธรรมได้รับการบูรณะครั้งใหญ่โดยพระยาโบราณราชธานินทร์ และได้รับการบูรณะอีกหลายครั้งรวมถึงในสมัยรัชกาลที่ 9 ด้วย

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

  1. โบสถ์

อุโบสถเป็นศิลปะอยุธยาตอนปลาย บัวมีแข้งสิงห์รับเป็นช่วงๆ น่าจะเลียนแบบจากวัดกุฎีดาว ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย โบสถ์หลังนี้เป็นโบสถ์มหาอุด มีทางเข้าออกทางเดียว ไม่มีช่องลมหรือหน้าต่าง เชื่อกันว่าถ้าทำพิธีปลุกเสกในโบสถ์มหาอุดแล้ว วัตถุนั้นๆ จะขลังกว่าการปลุกเสกในโบสถ์ปกติทั่วไป เสมาหน้าโบสถ์มีลักษณะผาย ยอดแหลม จึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นเสมาสมัยพระเจ้าเสือ

  1. วิหารหลัก

วิหารหลักเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย 3 องค์ กรมศิลปากรสันนิษฐานจากฐานชุกชีว่าวิหารแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา วิหารแห่งนี้ได้รับการบูรณะโดยพระยาราชธานินทร์สั่งให้คัดลอกภาพวาดฝาผนังจากวัดยมลงสมุดข่อยและนำมาวาดทับลงบนผนังวิหารวัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งเป็นภาพวาดสมัยอยุธยา ปัจจุบันลบเลือนไปมาก ส่วนวิหารต้นแบบในวัดยมก็ถูกรื้อถอน สำหรับสมุดข่อยที่คัดลอกภาพมานี้ ปัจจุบันได้รับการเก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ

  1. เจดีย์
  • พระเจดีย์บรมธาตุ อยู่ระหว่างโบสถ์และวิหาร เป็นเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ บูรณะโดยพระสละ กิจเจริญวงศ์ พ.ศ. 2524
  • เจดีย์แปดเหลี่ยม เป็นเจดีย์ศิลปะสมัยพระเจ้าท้ายสระ อยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมและสักการะได้
  • เจดีย์บรรจุอัฐิหลวงพ่อรอด (เสือ) หลวงพ่อรอด (เสือ) เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดประดู่ทรงธรรม มรณภาพเมื่อไหร่ไม่ปรากฏ แต่อัฐิของท่านประดิษฐานอยู่ในเจดีย์ ด้านหน้าของเจดีย์มีรูปเหมือนของท่านให้อนุชนได้กราบสักการะ

Exit mobile version