วัดสมณโกฏฐาราม
วัดสมณโกฏฐาราม วัดสำคัญที่พระราชบิดาพระเจ้าอู่ทองทรงผนวช ได้รับการบูรณะโดยพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) และพระยาโกษาธิบดี (ปาน) อีกทั้งยังเป็นสถานที่พระราชทานเพลิงศพเจ้าแม่วัดดุสิต นอกจากชื่นชมโบราณสถานแล้ว สิ่งที่ไม่ควรพลาดคือการกราบสักการะพระพุทธรูปโบราณที่อยู่ในสภาพดีมาก 2 องค์ ได้แก่ พระศรีสมณโกฏิบพิตรพระประธานในโบสถ์ และพระพิชิตมารโมฬี ในวิหารด้านหน้า
วัดสมณโกฏฐารามแต่เดิมชื่อวัดสมโณโกฎิ ไม่ปรากฏผู้สร้างแต่น่าจะสร้างมาตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา ตามพระราชพงศาวดารเหนือ ระบุว่าพระบรมราชา พระราชบิดาของพระเจ้าอู่ทอง ทรงผนวชที่วัดสมโณโกฎินี้ แต่นักวิชาการหลายท่านยังเชื่อว่าพงศาวดารเหนือมีข้อผิดพลาด น่าจะเป็นพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) มากกว่าที่ทรงผนวชวัดนี้
ต่อมาพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) และพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นเพื่อเป็นวัดประจำตระกูล จึงมีชื่อเรียกต่อๆ กันมาว่าวัดพระยาพระคลัง หรือวัดคลัง
ในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์ ซึ่งบันทึกโดยนายแพทย์เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) หมอชาวเยอรมัน ได้วาดแผนที่กรุงศรีอยุธยาเอาไว้ และได้เขียนตัวอักษร E เอาไว้ในบริเวณที่เป็นวัดกุฎีดาวและวัดพระยาพระคลัง โดยด้านหลังของวัดพระยาพระคลังติดกับหลังวัดกุฎีดาว มีเพียงคลองกั้นกลาง จึงมีผู้สันนิษฐานว่าวัดกุฎีดาวและวัดพระยาพระคลังอาจเป็นวัดเดียวกันมาแต่เดิมก็เป็นได้ นอกจากนี้ในจดหมายเหตุดังกล่าวยังระบุอีกด้วยว่าในปี พ.ศ. 2233 สมเด็จพระเพทราชาเสด็จไปพระราชทานเพลิงพระศพเจ้าแม่วัดดุสิตที่วัดพระคลัง โดยเจ้าแม่วัดดุสิตก็คือมารดาของพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) อีกทั้งยังเป็นพระนมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อย่างไรก็ดียังคงมีผู้เชื่อว่าวัดที่พระราชทานเพลิงศพเจ้าแม่วัดดุสิตคือวัดดุสิตาราม
วัดพระยาพระคลังรกร้างไปนาน กระทั่งปี พ.ศ. 2502 พระอาจารย์เจริญได้รับอาราธนามาปฏิสังขรณ์วัด กระทั่งวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 ก็ได้รับการพระราชทานวิสุงคามสีมาและเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสมโณโกฏฐาราม ทั้งนี้ทางวัดได้สร้างเสนาสนะขึ้นใหม่อยู่ทางทิศใต้ของส่วนที่เป็นโบราณสถาน และมีพระสงฆ์จำพรรษาตั้งแต่นั้นมา
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด
- โบสถ์
โบสถ์ของวัดมสมณโกฏฐารามส่วนโบราณสถาน เป็นโบสถ์สมัยอยุธยา ลักษณะตกท้องสำเภา มีหน้าต่างซึ่งมีบันแถลงพร้อมร่องรอยการประดับกระจกสี ด้านข้างมีประตูทางเข้า 4 ด้าน โบสถ์ได้รับการอนุรักษ์เอาไว้เป็นอย่างดี สามารถเข้าไปข้างในได้ ภายในของโบสถ์นอกจากจะได้รับการบูรณะจนดูใหม่มากและมีการเดินไฟฟ้าขึ้นใช้ภายในแล้ว ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรสำคัญ คือ ‘พระศรีสมณโกฎบพิตร’ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหินทราย ปางมารวิชัย ได้รับการบูรณะหลายครั้งและหลายวิธี เช่น ฉาบปูนทาสีขาว จนปี พ.ศ. 2549 จึงบูรณะโดยการปิดทอง พระศรีสมณโกฏบพิตรจึงเป็นทองทั้งองค์ดังเช่นในปัจจุบัน
- วิหาร
วิหารโบราณตั้งอยู่ด้านหน้าของวัด ปัจจุบันเหลือเพียงซากปรักหักพังและฐานเสา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย พร้อมด้วยพระโมคัลลานะและพระสารีบุตร อยู่ในสภาพค่อนข้างดี โดยพระพุทธรูปปางมารวิชัยนี้เป็นพระพุทธรูปหินทรายขาว มีพระนามว่า ‘พระพิชิตมารโมฬี’ หรือหลวงพ่อขาว
- ศาลพระยาโกษาธิบดี
ศาลพระยาโกษาธิบดีเป็นศาลใหม่ที่ไม่ได้มีมาแต่โบราณ ตั้งไว้เพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลังได้กราบไหว้และระลึกถึงพระยาโกษาธิบดีทั้งสอง โดยหากหันหน้าเข้าหาพระพุทธรูปในวิหาร ศาลพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) อยู่ทางซ้ายมือ ส่วนศาลพระยากาธิบดี (ปาน) จะอยู่ทางขวามือ
- พระปรางค์
พระปรางค์ในปัจจุบันเหลือแต่ฐานเท่านั้น แต่ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นฐานปรางค์ขนาดใหญ่ล้อมรอบด้วยระเบียงคต กรมศิลปากรเชื่อว่าพระปรางค์สร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนกลาง จากการบูรณะจึงทราบว่าพระปรางค์องค์นี้สร้างครอบทับเจดีย์ทรงระฆังกลม ศิลปะอยุธยาตอนต้น บนลานประทักษิณเอาไว้ โดยเจดีย์นี้แต่เดิมเชื่อมโยงกับเจดีย์ประจำมุมทั้งสี่ ล้อมด้วยกำแพงแก้วอีกชั้นหนึ่ง