วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร


อัพเดตล่าสุดเมื่อ 21 กรกฎาคม 2567

 

วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร: วัดประจำราชวงจักรี ที่พระปฐมบรมราชชนกทรงสร้างขึ้น และไดรับการทำนุบำรุงจากพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ โดดเด่นที่สุดด้วยภาพวาดฝาผนังประวัติสมเด็จพระเนรศวรมหาราชในวิหาร ชมเสมาศิลปะอยุธยาตอนปลาย และไม้จำหลักในอุโบสถที่ยังสมบูรณ์และหาดูได้ยากยิ่ง

            ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ออกพระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) เห็นบริเวณพื้นที่บริเวณซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักไหลมาบรรจบกันว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะกับการสร้างวัด จึงสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น ชื่อ ‘วัดทอง’ และออกพระอักษรสุนทร (ทองดี) ที่จริงแล้วก็คือพระบรมชนกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในหลวงรัชกาลที่ 1 ซึ่งต่อมาออกพระอักษรสุนทรได้รับการขนานนามว่าพระปฐมบรมราชชนกแห่งราชวงศ์จักรี

เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา วัดทองซึ่งอยู่ใกล้กับป้อมเพชร ได้รับความเสียหายอย่างหนัก และกลายเป็นวัดร้าง หลังจากขึ้นเถลิงถวัลย์ครองราชย์สมบัติแล้ว ในปี พ.ศ. 2328 ในหลวงรัชกาลที่ 1 โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดทองและทรงยกนิวาสสถานเดิมของพระปฐมบรมชนกให้เป็นส่วนหนึ่งของพระอารามด้วย ทั้งนี้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระอนุชาในในหลวงรัชกาลที่ 1 ทรงเข้าร่วมการปฏิสังขรณ์วัดทองเช่นกัน ในครั้งนี้ได้สร้างพระอุโบสถ เจดีย์ และกุฏิพระ ขึ้นใหม่ เพราะของเดิมยากที่จะบูรณะให้กลับใช้งานได้แล้ว

หลังจากที่วัดได้รับการปฏิสังขรณ์จนแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชทานนามว่า ‘วัดสุวรรณดาราราม’ โดยคำว่าสุวรรณ แปลว่า ทอง มาจากพระนามเดิมของพระบรมชนกว่า ‘ทองดี’ ส่วนคำว่าดารา แปลว่า ดาว มาจากพระนามเดิมของพระบรมราชชนนีว่า ‘ดาวเรือง’

ปัจจุบันวัดสุวรรณดาราราม เป็นอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร การที่วัดสร้างขึ้นโดยพระปฐมบรมชนก และในหลวงรัชกาลที่ 1 โปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์ กระทั่งพระเจ้าอยู่หัวในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์เคยโปรดให้ซ่อมแซมหรือเสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศล วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหารจึงนับเป็นวัดประจำราชวงศ์จักรี

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

  1. อุโบสถ

บริเวณที่สร้างพระอุโบสถนี้เป็นอาคารประธานของวัดมาตั้งแต่เดิม องค์พระอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนปลาย มีลักษณะแอ่นโค้งทรงท้องสำเภา ด้านหน้ามีมุขและเสาย่อมุมไม้สิบสองรองรับมุข หน้าต่างมีซุ้มบันแถลง ติดช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์นาคเบือน 3 เศียร ศิลปกรรมสกุลช่างวังหน้า ด้านหลังบานประตูมีภาพวาดนายทวารบาล ‘เซียวกาง’ ที่สมบูรณ์มาก อีกสิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดคือเสมา เพราะใบเสมาของโบสถ์ทุกใบเป็นศิลปะอยุธยาตอนกลางที่สมบูรณ์ที่สุดในอยุธยา

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธาน เป็นพระปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบเหนือรัตนบัลลังก์ฐานสิงห์ เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รายล้อมด้วยพุทธสาวกขนาดเล็ก 8 องค์

พระอุโบสถแห่งนี้มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม โดยผนังเหนือประตู ตรงข้ามกับพระประธานเป็นพุทธประวัติตอนมารผจญ ด้านหลังพระประธานคือภาพไตรภูมิ ผนังด้านข้างเป็นภาพนักสิทธิ์ วิทยาธร และเทพชุมนุม ผนังระหว่างช่องหน้าต่างเป็นภาพทศชาดก

อีกสิ่งหนึ่งที่หาดูได้ยากคือ บนเพดานโบสถ์ ประดับด้วยไม้จำหลักลายดวงดาว ประกอบไปด้วยดาวประธานที่รายล้อมไปด้วยดาวบริวาร 12 ดวง

  1. วิหาร

จุดเด่นวิหารคือภาพจิตกรรมฝาผนัง ซึ่งโดยปกติแล้วมักเป็นพุทธประวัติ แต่ที่นี่เป็นพระราชประวัติของสมเด็จพระเนรศวรมหาราช โดยเมื่อครั้งครบรอบกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี ในหลวงรัชกาลที่ 6 โปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณดารารามครั้งใหญ่ และโปรดฯ ให้พระยาอนุศาสตร์จิตกร (จัน จิตกร) เขียนพระราชประวัติสมเด็จพระเนรศวรบนผนังของพระวิหาร ตั้งแต่ทรงประสูติ ประทับ ณ เมืองพม่า จวบจนประกาศอิสรภาพ และกระทำยุทธหัตถี โดยภาพที่โดดเด่นที่สุด คือ ภาพกระทำยุทธหัตถี ซึ่งเป็นภาพใหญ่อยู่เหนือประตูวิหารด้านหน้า เชื่อกันว่าความรู้ส่วนใหญ่ที่เขียนไว้ในแบบเรียน รวมถึงสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลง ภาพยนตร์ ส่วนใหญ่แล้วมาจากภาพวาดในวิหารแห่งนี้ทั้งสิ้น พระยาอนุศาสตร์จิตกรใช้เวลาวาดจิตรกรรมฝาผนังทั้งหมดรวม 2 ปี โดยเริ่มต้นวาดในปี พ.ศ. 2472  และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2474


Exit mobile version