วัดธรรมิกราช
วัดธรรมิกราช: อลังการกับเศียรพระที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดอยุธยา พร้อมเที่ยวชมเจดีย์สิงห์ล้อม ลักษณะเด่นของเจดีย์ที่ไม่ปรากฏที่ใดนอกจากที่วัดธรรมิกราชและวัดแม่นางปลื้ม พร้อมกราบพระนอนโบราณ และพบร่องรอยแห่งความยิ่งใหญ่ของซากประตูทางเชื่อมจากวัดสู่วังหลวง
วัดธรรมิกราชเดิมชื่อวัดมุขราช สร้างขึ้นโดยพระยาธรรมิกราช โอรสของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ยังเป็นอโยธยาศรีรามเทพนคร ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเสียอีก ภายในวัดมีวิหารทรงธรรม ประดิษฐานพระธรรมิกราชซึ่งเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ผู้คนจึงเรียกชื่อวัดตามชื่อพระพุทธรูป หลังจากที่สถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว มีการตั้งวังหลวงติดกับวัดธรรมิกราช วัดจึงกลายเป็นวัดอารามหลวงและได้รับการบูรณะเรื่อยมา วัดธรรมิกราชได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานแห่งชาติในวันที่ วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2474
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด
- เศียรพระธรรมิกราช
เศียรพระสำริดศิลปะอู่ทองนับเป็นสัญลักษณ์ของวัดธรรมิกราช โดยแต่เดิมพระธรรมิกราชเป็นพระพุทธรูปเต็มองค์ ประดิษฐานอยู่ที่วิหารทรงธรรม เนื่องจากพระธรรมิกราชมีขนาดใหญ่มาก เฉพาะเศียรมีความสูงถึง 2 เมตร ช่วงเสียกรุงครั้งที่ 2 โลหะในการทำอาวุธขาดแคลน ชาวอยุธยาจึงทำพิธีพลีองค์พระ เพื่อนำองค์ของท่านไปสร้างเป็นอาวุธและปืนใหญ่ พระธรรมิกราชจึงเหลือแต่พระเศียรมาจนถึงปัจจุบัน เศียรพระธรรมิกราชปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา แต่ทางวัดได้ทำเศียรจำลองขึ้นและประดิษฐานไว้หน้าวัดมา แม้จะเป็นเศียรจำลองแต่มีความศักดิสิทธิ์มาก ว่ากันว่าผู้ที่มีคดีความหากมาขอพรแล้วคดีความจะจบลงด้วยดี
- เจดีย์และสิงห์ล้อม 52 ตัว
ทางทิศตะวันออกของวิหารทรงธรรมมีเจดีย์ที่สร้างขึ้นพร้อมวัด นั่นคือสร้างขึ้นตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา องค์เจดีย์เป็นทรงระฆังคว่ำบนฐานแปดเหลี่ยม ด้านล่างของลานประทักษิณมีสิงห์ล้อม 52 ตัว มีบันไดทางทิศเหนือ ใต้และตะวันตก ราวบันไดเป็นพญานาค 7 เศียร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพญามุจลินทร์นาคราช พญานาคที่มักปรากฏในวัดพุทธ เพราะเป็นพญานาคที่ปรกพระพุทธองค์ให้พ้นจากล้มฝนเมื่อครั้งที่ทรงนั่งเสวยวิมุติสุขหลังจากที่ทรงตรัสรู้แล้ว แม้ว่าองค์เจดีย์จะทรุดโทรมไปมาก แต่สิงห์และพญานาค กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะอย่างดีจนนับเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของวัดธรรมิกราช เจดีย์ลักษณะเดียวกับเจดีย์วัดธรรมิกราช พบอีกทีหนึ่งในอยุธยานั่นคือวัดแม่นางปลื้ม
- พระธรรมิกราชจำลอง
ทิศใต้ของวัดเป็นที่ประดิษฐานพระธรรมิกราชจำลอง ซึ่งหล่อขึ้นใหม่เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นปางห้ามญาติ ทรงยืนยกพระหัตถ์ซ้ายข้างเดียว แม้ว่าจะไม่มีใครทราบแน่ว่าองค์จริงของพระธรรมิกราชนั้นเป็นปางใดหรือมีพุทธลักษณะอย่างไร แต่สาธุชนก็เข้ามาสักการะกันไม่ขาดสาย
- วิหารพระนอน
ตามตำนานเล่าว่าพระขัตติยะเทวี พระมเหสีในพระบรมไตรโลกนาถ ทรงมีพระราชธิดาชื่อพระอุบลเทวี พระอุบลเทวีทรงประชวรหนัก พระมเหสีจึงอธิษฐานว่าหากพระธิดาหายประชวรจะสร้างพระนอนขึ้นที่วัดธรรมิกราช หลังจากนั้นพระธิดาทรงหายประชวรจริงๆ พระมเหสีจึงสร้างพระนอนขึ้น เชื่อกันว่าพระนอนองค์นี้อยู่กลางแจ้ง และมีการสร้างวิหารขึ้นครอบองค์พระในสมัยพระเจ้าทรงธรรม
พระนอนวัดธรรมิกราชเป็นปางพักผ่อนพระอิริยาบถ เพราะพระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทาบประคองพระเศียร เชื่อกันว่าใครได้กราบพระนอนวัดธรรมิกราชแล้วจะมีชีวิตที่สุขสบาย
- สระน้ำและประตูวัง
วัดธรรมิกราชอยู่ติดกับพระราชวังหลวง โดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดให้สร้างพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ขึ้นเป็นที่พักผ่อนส่วนพระองค์แทนการขยายพระราชวังไปทางทิศตะวันออก และโปรดให้สร้างประตูศรีชัยศักดิ์ในการสัญจรระหว่างวัดกับวังหลวง จากนั้นโปรดให้วิหารทรงธรรมเป็นวิหารหลวง ด้วยเหตุนี้ที่สุดเขตวัดธรรมิกราชจึงมีซากประตูวังหลวงตั้งตระหง่านอยู่ อีกทั้งหน้าประตู ยังมีบ่อน้ำขุด ซึ่งแต่เดิมสร้างขึ้นเพื่อให้ข้าราชการ ข้าราชบริพาร และประชาชนอาบน้ำแต่งตัวก่อนเข้าวังหลวงอีกด้วย