วิหารมงคลบพิตร


อัพเดตล่าสุดเมื่อ 21 กรกฎาคม 2567

 

วิหารมงคลบพิตร: ที่ประดิษฐานพระมงคลบพิตร พระคู่บ้านคู่เมืองที่มีประวัติซับซ้อนยาวนาน สัญลักษณ์การรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางในสมัยสมเด็จพระบรมโตรโลกนาถ หลังจากได้รับการบูรณะด้วยปูนทาสีดำทั้งองค์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชทรงดำริให้หุ้มทองคำดังปัจจุบัน

พระมลคลบพิตรจะสร้างขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏ มีแต่ข้อสันนิษฐานแตกต่างกันไปว่า

  1. สร้างขึ้นในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ เดิมประดิษฐานอยู่ที่ทิศตะวันออกของพระราชวังหลวง
  2. สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระไชยราชา (หลังสมเด็จพระบรมโตรโลกนาถ 46 ปี)ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งที่วัดชีเชียง ห่างจากวิหารปัจจุบันไป 200 เมตร

ตามเอกสารภาพวาดของชาวตะวันตก ในปี พ.ศ. 2146 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดให้ชะลอพระมงคลบพิตรมาไว้ทางทิศตะวันออกของพระราชวังหลวงแล้วสร้างวิหารทรงมณฑปครอบไว้ ลักษณะคล้ายมณฑปพระพุทธบาทสระบุรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2246 สมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือ พระเจ้าเสือ ฟ้าผ่ามณฑปหักถูกพระเศียรชำรุดบางส่วน พระเจ้าเสือจึงโปรดให้ซ่อมพระเศียรและสร้างวิหารครอบองค์พระ โดยคงยอดมณฑปเอาไว้ จากนั้นก็มีการปฏิสังขรณ์อีกครั้งในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยสร้างหลังคาคล้ายในปัจจุบันขึ้น

ในช่วงเสียกรุง พระวิหารมลคลบพิตรและองค์พระเสียหายอย่างหนัก ต่อมาคุณหญิงอมเรศร์สมบัติภรรยาของพระยาอมเรศร์สมบัติ (ต่วน ศุขะวะนิช) เจ้ากรมกองผลประโยชน์ พระคลังข้างที่ มีความศรัทธาในพระมงคลบพิตรเป็นอย่างมาก จึงได้ยื่นเรื่องขอบูรณะพระวิหารขึ้นในปี พ.ศ. 2474 ผ่านกรมศิลปากรซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทะการเป็นอธิบดีอยู่ในขณะนั้น แต่รัฐบาลไม่อนุญาตเนื่องจากต้องการออกแบบให้เป็นพระพุทธรูปกลางแจ้งเหมือนไดบุซึของญี่ปุ่น คุณหญิงได้ยื่นเรื่องใหม่ถึง 4 ครั้ง จนปี พ.ศ. 2480 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบพระวิหารให้ ในปี พ.ศ.2498 ฯพณฯ ท่านอู้นุ นายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่าได้มอบเงิน 200,000 บาทเพื่อบูรณะวิหารมงคลบพิตร สุดท้ายในปี พ.ศ. 2499 ซึ่งเป็นสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงมีการสร้างพระวิหารมงคลบพิตรตามแบบที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงออกแบบขึ้น โดยรัฐบาลไทยได้สมทบงบประมาณเพิ่มเข้าไปอีก 250,000 บาท

ในปี พ.ศ. 2500 กรมศิลปากรได้บูรณะองค์พระมงคลบพิตร พบพระพุทธรูปสำริดจำนวนมากบรรจุไว้ที่พระอุระด้านขวาและพระพาหาด้านซ้ายจึงนำมาเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยาและจันทรเกษม โดยอาจแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่คือ

  1. พระพุทธรูปศิลปะล้านนา
  2. พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย
  3. พระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง
  4. พระพุทธรูปศิลปะอยุธยา
  5. พระพุทธรูปศิลปะอยุธยาสกุลช่างนครศรีธรรมราช (แบบขนมต้ม)

เชื่อกันว่าการรวบรวมพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่างๆ ไว้ในพระพุทธรูปองค์เดียวกัน เป็นการแสดงถึงการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยมีความหมายว่าแต่นี้ไปหัวเมืองต่างๆ จะเป็นหนึ่งเดียวกับกรุงศรีอยุธยานั่นเอง

สิ่งที่น่าสนใจ 

  1. พระมงคลบพิตร

พระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ปางมารวิขัย หน้าตัก 9.55 เมตร ความสูงไม่รวมฐานบัว 12.45 เมตร องค์พระมงคลบพิตรก่อด้วยอิฐหุ้มสำริด หลังจากเสียกรุงพระมงคลบพิตชำรุดหนักจนพระพาหา (แขน) ขวาหัก ซ่อมแซมครั้งแรกในสมัยพระยาโบราณราชธานินทร์โดยใช้ปูนปั้นจนมีพระองคาพยพพร้อมมูล ในการบูรณะองค์พระในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ใช้ปูนปั้นทาสีดำทั้งองค์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 สมเด็จพระญาณสังวรณ์ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เสด็จเป็นองค์ประธานหล่อทองพระมงคลบพิตรจำลอง แล้วทรงดำริให้หุ้มทองพระมงคลบพิตรองค์จริงทั้งองค์ด้วย พระมงคลบพิตรในปัจจุบันจึงเป็นทองสุขปลั่งงามพร้อมเป็นอย่างยิ่ง

  1. วิหารแกลบ วัดชีเชียง

ด้านหน้าของวิหารมงคลบพิตรห่างออกไปราว 400-500 เมตร มีซากวิหารแกลบของวัดชีเชียงอยู่ โดยวิหารแกลบคือวิหารขนาดเล็กจนคนสามารถเข้าไปนั่งได้เพียงคนเดียว ดังนั้นแม้จะเชื่อกันว่าวัดชีเชียงเป็นที่ประดิษฐานเดิมของพระมงคลบพิตร แต่วิหารแกลบนี้ไม่มีทางที่จะเป็นที่ประดิษฐานพระมงคลบพิตร และเป็นไปได้ว่าท่านอยู่กลางแจ้งตามที่เชื่อกันมาแต่เดิมนั่นเอง


Exit mobile version